คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สายันต์ สุรสมภพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 381 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาศาลชั้นต้นในชั้นบังคับคดี: หนี้ตามคำพิพากษาเป็นที่ยุติแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามเช็ครวม 3 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 911,959.38 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 860,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 911,959.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 860,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์และจำเลยมิได้ขอให้พิจารณาใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จนถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 911,959.38 บาท ที่จำเลยยื่นคำร้องว่าก่อนฟ้องจำเลยชำระหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 200,000 บาท และเป็นเช็คอีก 1 ฉบับ เป็นเงิน 200,000 บาท คงค้างชำระหนี้โจทก์เพียง 487,400 บาท เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยไม่อาจกล่าวอ้างในชั้นบังคับคดีได้ เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลย ต้องถือว่าหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นหนี้ที่ถูกต้องแท้จริง แม้ภายหลังจากที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยแล้ว โจทก์ได้รับชำระหนี้จากภริยาจำเลยไปบ้างแล้วเป็นเงิน 440,000 บาท แต่ก็ยังเป็นจำนวนไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยต้องรับผิดในเช็คพิพาท แม้โอนให้ผู้อื่น หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่มีมูลหนี้
จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทอ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ และผู้โอนเช็คพิพาทกับโจทก์ผู้รับโอนคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่อ้าง เมื่อจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้ทรงคนก่อน การที่ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ ทั้งเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ จำเลยไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ ทั้งจำเลยจะอ้างว่าโจทก์และผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินต่อกันหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
(ปัญหานี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1549/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทดอกเบี้ยสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี: ศาลฎีกายกเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริง ไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นฟังว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 มีผลใช้บังคับกับสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลย การที่โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535 นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้โดยยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขับรถและนายจ้างต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารนำนักทัศนาจรไปเที่ยวและพาเข้าพักที่รีสอร์ท จึงมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์โดยสารดังกล่าวในระหว่างที่พักอยู่ที่รีสอร์ทให้ปลอดภัยด้วย อันเป็นหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 เมาสุราไม่เฝ้ารถยนต์โดยสารเอง แต่กลับให้ ก. พนักงานประจำรถนอนเฝ้ารถยนต์โดยสารแทน ทั้งที่ได้ยิน ก. พูดว่าจะออกไปเที่ยวข้างนอก และยังได้เสียบกุญแจรถไว้ที่สวิตช์ติดเครื่องยนต์ มิได้นำไปเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ก. ถือโอกาสลักลอบขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวไปเที่ยวข้างนอกและทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ ก. ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อพลิกคว่ำเฉี่ยวชนราวเหล็กกันอันตรายพร้อมเสาของโจทก์เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับ ก. ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลรักษารถยนต์โดยสารอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลให้ปลอดภัยตามหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ร่วมทำละเมิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประวิงคดีโดยจำเลยผู้เป็นพนักงานอัยการ ศาลมีอำนาจงดสืบพยานและพิพากษาได้
ตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยมาโดยตลอด ทั้งที่พยานจำเลยมีเพียง 2 ปาก ซึ่งรวมทั้งตัวจำเลยด้วย ทั้งคดีเช็คนี้เป็นคดีไม่ยุ่งยาก ศาลชั้นต้นก็ให้โอกาสจำเลยเพื่อนำพยานมาสืบ ครั้นเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้สืบพยานจำเลยใหม่ก็มีการขอถอนทนายจำเลยและเมื่อจำเลยทราบเรื่องการถอนตัวของทนายจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 จำเลยก็ไม่ขวนขวายแต่งทนายความคนใหม่จนกระทั่งถึงวันนัดจึงได้แต่งทนายความคนใหม่ ทั้งที่ศาลนับสืบพยานจำเลยวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และในวันนัดจำเลยก็ไม่มาศาลทั้งที่จำเลยเป็นพนักงานอัยการทำงานอยู่ใกล้กับศาลชั้นต้น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ที่จำเลยฎีกาว่าทนายความคนใหม่ติดว่าความคดีอื่นนั้น ตามพฤติการณ์แล้วน่าเชื่อว่าจำเลยจงใจที่จะแต่งตั้งทนายความที่ติดว่าความคดีอื่นเพื่อขอเลื่อนคดีต่อไป จำเลยเป็นพนักงานอัยการคดีแพ่งก็ย่อมทราบเรื่องคดีตัวเองดี ถึงแม้ทนายจำเลยจะติดว่าความคดีอื่น จำเลยสามารถที่จะมาศาลและอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานได้ด้วยตนเองและจำเลยทราบล่วงหน้าแล้วว่าศาลนัดสืบพยานจำเลย จำเลยย่อมมีเวลาที่จะหาทนายความคนใหม่ที่มีวันว่างที่จะมาศาลได้ เหตุที่จำเลยอ้างจึงไม่เป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และจำเลยก็ไม่แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่ให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลอุทธรณ์และฎีกาไม่รับวินิจฉัยเรื่องอายุความ และยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างว่าไม่จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่ได้การที่จำเลยฎีกาในข้อนี้ขึ้นมาจึงต้องห้ามด้วยเช่นเดียวกัน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และเรื่องอายุความเมื่อไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลจะอ้างเอาอายุความเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การ และผลกระทบต่อการยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และในเรื่องอายุความเมื่อไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยในข้อนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม และประเด็นค่าเสียหายที่มิได้อุทธรณ์ในชั้นต้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมกับชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ และบริษัทไทยล้านนายนตรกิจ จำกัด และบริษัทไทยล้านนาลิสซิ่ง จำกัด ที่ขายรถให้จำเลยที่ 1 ได้มายึดรถคันดังกล่าวคืนไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบริษัทไทยล้านนา ยนตรกิจ จำกัด และบริษัทไทยล้านนาลิสซิ่ง จำกัด ผู้ร้องทั้งสองที่ขายรถให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นยกคำร้องเข้าเป็นจำเลยร่วมแล้วพิจารณาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี การที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เช่นนี้คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองถือว่าเป็นคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (5) เพราะเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ เมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งที่ผู้ร้องมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแทนผู้ร้องทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเช็ค: นับจากวันที่ลงในเช็ค ไม่ใช่วันมอบเช็ค ผู้ทรงเช็คลงวันที่ได้ตามกฎหมาย
อายุความเช็คต้องนับแต่วันที่ลงในเช็คไม่ใช่นับแต่วันมอบเช็คให้ เมื่อขณะที่โจทก์รับมอบเช็ค เช็คยังไม่ลงวันที่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันที่ออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คได้ตาม ป.พ.พ. มารตรา 910 ประกอบมาตรา 989 เมื่อนับจากวันที่ซึ่งปรากฏในเช็คถึงวันฟ้องไม่เกินหนึ่งปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถเช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบประกันภัย หากไม่ได้ใช้รถหรือมีไว้เพื่อใช้
แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า เจ้าของรถ คือ ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ตามมาตรา 7 ผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายนั้นต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุหรือมีรถยนต์คันเกิดเหตุไว้เพื่อใช้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย
of 39