คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สายันต์ สุรสมภพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 381 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10700/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ค้ำประกันหลังชำระหนี้: ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ แม้ได้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆเพราะการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ในวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย และสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิที่เจ้าของมีอยู่ไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ก็คงมีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันชอบที่จะใช้สิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเองตามมาตรา 226 เท่านั้น การที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ที่โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ไปครบถ้วนแล้วโดยผลของมาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10468/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องจำกัดในสัญญาร่วมทุน และการแต่งตั้งกรรมการบริษัทตามกฎหมาย
สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับพวกฝ่ายหนึ่ง และบริษัท อ. อีกฝ่ายหนึ่ง จัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้นมาให้มีฐานะเป็นบริษัทร่วมทุน และกำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ แต่จำเลยหามีฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุนไม่ ดังนั้น แม้ในสัญญามีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติสัญญานี้และคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด ก็เป็นข้อบังคับใช้ระหว่างโจทก์กับพวกและบริษัท อ. เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่จำต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการจักต้องอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1151 ซึ่งระบุเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นจึงจะกระทำได้ รวมตลอดทั้งหากตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ กรรมการที่ยังมีอยู่แห่งนิติบุคคลนั้นมีสิทธิเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1155 บัญญัติไว้ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมทุน และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2546

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของประกันภัย, ความรับผิดของนายจ้าง, และข้อจำกัดการฎีกาข้อเท็จจริง
รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ นาย ส.ค. เป็นผู้เช่าซื้อ โดยมี นาย ส.พ. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียวในบรรดาอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ส่วนตามสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจำต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วม นาย ส.พ. ผู้ค้ำประกันจึงมีส่วนได้เสียในความเสียหายของรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และนาย ส.พ. จึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แม้จะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล้วเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยทั้งสองฝ่ายประมาทพอ ๆ กัน หรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แล้วพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็หาได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างซึ่งขับรถไปในทางการที่จ้างหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 510,569 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 330,667 บาท โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายส่วนที่ยังขาดอยู่อีก 179,902 บาท แก่โจทก์ ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นฎีกา จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเพียงฝ่ายเดียว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8075/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง: ข้อผิดพลาดในการระบุหมายเลขห้องชุดในหนังสือบอกกล่าว ไม่ทำให้การบังคับจำนองเป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยจำนองห้องชุดเลขที่ 181/289 ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน 30 วัน ย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และจัดการไถ่ถอนจำนองภายในเวลาที่กำหนด เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทำสัญญาจำนองทรัพย์สินรายอื่นเป็นประกัน ทรัพย์ที่โจทก์จะบังคับจำนองย่อมหมายถึงห้องชุดเลขที่ 181/289 การที่หนังสือบอกกล่าวของโจทก์ระบุหมายเลขห้องชุดเป็นห้องชุดเลขที่ 0289 ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นเพียงการพิมพ์หมายเลขคลาดเคลื่อนเท่านั้น หามีผลทำให้หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คำบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบด้วยมาตรา 728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความตกทอดแก่ทายาท แม้คดีถึงที่สุดแล้ว
สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยผู้ตายให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมเป็นสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของจำเลย อีกทั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลย และดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์ได้ มิใช่เป็นการเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลยภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วก็มีสิทธิที่จะยื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทายาทรับมรดกความในการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาตามยอม โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ถนนในส่วนที่เป็นที่ดินของจำเลย และโจทก์ทั้งสองยินยอมชำระค่าใช้ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิการบังคับคดีของจำเลยผู้ตายตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาทของผู้ตาย ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยและเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยด้วย ย่อมมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลยและดำเนินการบังคับแก่โจทก์ทั้งสองได้ แม้คดีจะถึงที่สุดแล้วก็ตาม กรณีนี้หาใช่เป็นการเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุคคลภายนอกคดีพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีนี้ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ผู้คัดค้านชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลอย่างคดีมีข้อพิพาทเป็นคดีใหม่ และกรณีนี้มิใช่เป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7601/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, การคิดดอกเบี้ยทบต้น, อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา, การไม่ชัดแจ้งในการให้การ
คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จึงทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไรและเพียงใด ทั้ง ๆ ที่ฟ้องโจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชี ซึ่งมีรายการคิดคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 และ 16.75 ต่อปี ตามลำดับและถ้าต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร จำเลยยอมให้ปรับขึ้นได้ เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามประกาศของธนาคารโจทก์ คืออัตราร้อยละ 16.50 ต่อปีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์นับแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง มิใช่ว่าไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาจึงให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7601/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทดอกเบี้ยและการคิดคำนวณหนี้ จำเลยต้องให้การชัดแจ้งถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคิดดอกเบี้ยผิดพลาด
จำเลยให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับดอกเบี้ยในเดือนต่อไป ทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง คำให้การดังกล่าวของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด ที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไรและเพียงใด ทั้ง ๆ ที่โจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีซึ่งมีรายการคิดดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว ดังนั้นคำให้การของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เมื่อจำเลยยังคงหยิบยกปัญหาดังกล่าวฎีกาขึ้นมาอีก ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7489/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่เกี่ยวข้องกับหนี้สิน จำเป็นต้องวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมกัน หากไม่ปฏิบัติตาม ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย ค่าคำร้องเป็นพับ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไปได้ ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัวนั่นเอง ดังนั้น จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติก่อน การที่จำเลยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์เช่นนี้ ในชั้นตรวจอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยด้วยโดยพิพากษายืน จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องยกเสีย และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์
(ประชุมใหญ่)
of 39