คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สายันต์ สุรสมภพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 381 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา กู้ยืมเงินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ศาลแก้ไขคำพิพากษาดอกเบี้ย
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อโจทก์จึงมีคำสั่งและประกาศอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยชั้นดีโดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีทั้งประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้แบบมีระยะเวลาอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยชั้นดีในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราตามคำสั่งและประกาศของโจทก์เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จึงตกเป็นโมฆะ แม้ตามความจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ เมื่อข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วเท่ากับสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีกแต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจของลูกหนี้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงไม่อาจนำมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับได้อีก ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดรถยนต์หลังผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ: โจทก์ผิดสัญญาเมื่อไม่บอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนยึดรถ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้โดยทันที และยินยอมให้เจ้าของทำการยึด และเข้าครอบครองรถยนต์นั้นก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาตั้งแต่งวดที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งโจทก์ก็ยินยอมรับไว้ แม้โจทก์จะคิดค่าปรับแก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ล่าช้าก็ตาม แต่หลังจากโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว โจทก์ยังยินยอมรับเงินค่าเช่าซื้องวดที่ 7 และ ที่ 8 พร้อมค่าปรับ พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ทั้งก่อนที่โจทก์จะไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จากนั้นจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แสดงว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งการยึดนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 9 ภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรดังบทบัญญัติดังกล่าว การที่โจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเพราะเหตุดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ก็โต้แย้งการยึด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อแทนค่าปรับที่ได้รับไว้แก่จำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาโทษรอการลงโทษและการบวกโทษคดีอาญา: เกณฑ์เวลาที่ถูกต้องและการปรับบทกฎหมาย
การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยจนถึงวันที่จำเลยกระทำความผิดในคดีหลัง เพื่อนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 หาใช่เป็นการติดต่อราชการตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 ไม่ การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 จะต้องไปครบ 1 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 24 นาฬิกาอันเป็นการนับวันเวลาตามปกตินั่นเอง จำเลยกระทำผิดในวันที่ 20มีนาคม 2543 เวลา19.45 นาฬิกา จึงบวกโทษจำคุกในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษ: การตีความ 'วัน' ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 นั้น บัญญัติว่า ในบางคดีความ ในทางราชการ หรือทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม วัน หมายความว่า เวลาทำการตามปีที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี หมายถึง ในการต้องติดต่อราชการเช่นการฟ้องคดี การยื่นคำร้อง คำขอ ต่อศาล ก็ต้องทำภายในเวลา 16.30 นาฬิกา หรือธุรกรรมในทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมพึงต้องทำในวันเวลาทำการตามปกติที่กำหนดไว้ของกิจการนั้น เช่นเดียวกัน แต่การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยจนถึงวันที่จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เพื่อนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาใช่เป็นการติดต่อ ราชการตามนัยมาตรา 193/4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 จะต้องครบ 1 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 24 นาฬิกา อันเป็นการนับวันเวลาตามปกตินั่นเอง ศาลบวก โทษจำคุกในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเช็คพิพาทโดยทุจริตและการพิสูจน์มูลหนี้ที่ชอบ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิด
คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทไว้ในครอบครองโดยทุจริตนั้นทุจริตอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัด ที่ว่าคบคิดกับบุคคลอื่น บุคคลอื่นนั้น เป็นผู้ทรงเช็คคนก่อนหรือไม่ หรือเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ ที่ว่าโจทก์ควรรู้ว่าเช็คพิพาทมีการชำระหนี้แล้ว ก็ไม่ใช่คำยืนยันว่าโจทก์รู้ แปลความว่าอาจไม่รู้ก็ได้เช่นกันแล้วให้การว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทมาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจาก ร. โดยคบคิดกันฉ้อฉล จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาท
จำเลยที่ 2 ให้ ร. นำเช็คแลกเงินสดจากโจทก์และมีการเปลี่ยนเช็คเรื่อยมาต่อมาได้รวมจำนวนเงินที่เป็นหนี้และกู้เงินเพิ่มอีกแล้วจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ไว้แก่โจทก์โดยเป็นการกู้เงินและการแลกเปลี่ยนเช็ค โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรงแต่ติดต่อผ่าน ร. เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้โดยชอบ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900,987และ 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยขัดขวางการยื่นฟ้องภายในอายุความ ศาลฎีกาตัดสินให้รับคำฟ้องได้
ในวันครบกำหนดอายุความโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ว่า โจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลจังหวัดอุดรธานีที่มีเขตศาลเหนือคดี แต่เงินที่เตรียมไปไม่พอกับค่าธรรมเนียมจึงนำคำฟ้องกลับมาที่จังหวัดขอนแก่นและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อเวลา 16 นาฬิกา ทำให้โจทก์ไม่สามารถกลับไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีได้ทัน จึงขออนุญาตยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้ศาลจังหวัดขอนแก่นรับคำฟ้องไว้ดำเนินการต่อไป ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งในคำร้องว่ารับไว้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีโดยด่วน เท่ากับยอมรับว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 แม้ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง แต่การสั่งรับคำร้องและให้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาโดยด่วนนั้น ย่อมถือได้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นได้ยอมรับคำฟ้องของโจทก์แล้ว แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ภายหลังก็ไม่มีผลทำให้คดีของโจทก์ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องเช็คและการยื่นฟ้องข้ามเขตศาล: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นคำฟ้องข้ามเขตศาลโดยมีเหตุสุดวิสัยไม่ทำให้ขาดอายุความ
อายุความฟ้องร้องผู้สั่งจ่ายเช็คมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ดังนั้น เช็คลงวันที่ 5 สิงหาคม2540 ย่อมครบกำหนดอายุความในวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ปรากฏว่าในวันครบกำหนดดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ว่า โจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลจังหวัดอุดรธานีที่มีเขตศาลเหนือคดีแต่เงินที่เสมียนทนายเตรียมไปไม่พอกับค่าธรรมเนียม เสมียนทนายจึงนำคำฟ้องกลับมาที่จังหวัดขอนแก่นและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อเวลา 16 นาฬิกา อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถกลับไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีได้ทัน จึงขออนุญาตยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งในคำร้องว่า "รับไว้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีโดยด่วนเพื่อพิจารณาต่อไป" คำสั่งดังกล่าวเท่ากับยอมรับว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 แม้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นจะมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ แต่การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งรับคำร้องและให้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาโดยด่วนนั้น ย่อมถือได้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นได้ยอมรับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนการที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจะส่งคำฟ้องไปให้ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาสั่งในภายหลังก็เป็นขั้นตอนปฏิบัติของศาลมิได้เกี่ยวกับคู่ความ แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ภายหลังก็หามีผลทำให้คดีของโจทก์ที่ยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความกลับกลายเป็นคดีที่ขาดอายุความไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดบังคับคดีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การอ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจโดยไม่เข้าหลักเกณฑ์จึงไม่อาจงดบังคับคดีได้
กรณีที่จะงดการบังคับคดีได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 292 และ 293 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่หรือได้ยื่นฟ้องเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้นซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด แต่ตามคำร้องของจำเลยหาได้อ้างเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลงดการบังคับคดีไม่ กลับอ้างวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นนอกประเทศไทยและในประเทศไทยเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้มาของดการบังคับคดี โดยอ้างว่าได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150,205 และ 219 อันเป็นกฎหมายในส่วนสารบัญญัติซึ่งไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการงดการบังคับคดีแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ถึงมาตรา 305(ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 3,4,6,30 และ 48 จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ทั้งมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ถึงมาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่สมบูรณ์ - ผู้ลงลายมือชื่อไม่จำเป็นต้องผิด - เหตุไม่มีข้อมูลสำคัญครบถ้วน
ว. นำเช็คพิพาทที่มีจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายไว้ โดยมิได้กรอกข้อความทั้งวันเดือนปีที่สั่งจ่าย ชื่อผู้รับเงินและจำนวนเงิน ไปมอบให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ เมื่อขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท ยังไม่มีรายการวันที่ออกเช็คอันเป็นวันกระทำความผิด คำสั่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน และชื่อผู้รับเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(2)(4) และ (6) บังคับให้ต้องมีรายการเหล่านี้ เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ออกเช็คย่อมไม่มีความผิดทางอาญา อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยรถยนต์: ความรับผิดต่อค่ารักษาพยาบาลบุคคลภายนอก และการรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัย
ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตายและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นการจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นการประกันชีวิตไม่
of 39