พบผลลัพธ์ทั้งหมด 30 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดโทษ ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีเก่า
ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุม ว. (ผู้คัดค้านที่ 1) ย. ป. และ จ. พร้อมยึด กัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นตันเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และ ป.ยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงสุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสามแต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8133/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคืนทรัพย์สินที่ถูกริบหลังศาลยกฟ้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และข้อยกเว้นสำหรับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดอื่น
แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองจะถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในภายหลังว่า คดีที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คือผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้ ย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้แล้ว ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลจะสั่งริบได้ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 อีกต่อไป จึงต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6623/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในการพิจารณาคดีริบทรัพย์สินก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้ง 2 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29 และ 31 ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินก่อนวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ใช้บังคับ คดีของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสอง จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4133/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: เจ้าของทรัพย์สินต้องพิสูจน์สิทธิ หากพิสูจน์ไม่ได้ทรัพย์สินตกเป็นของกองทุน
ตามทางไต่สวนผู้คัดค้านนำสืบไม่ได้ว่าทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ริบผู้คัดค้านเป็นเจ้าของที่แท้จริง กลับนำสืบเองว่าเป็นทรัพย์สินของ ณ. และ ว. ซึ่ง ณ. และ ว. ไม่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านและขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวด้วยตนเอง แม้ผู้คัดค้านจะเป็นบิดาของ ณ. และสามีของ ว. ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินแทนได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21103/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติด แม้ผู้คัดค้านอ้างรายได้จากอาชีพอื่น ศาลพิพากษายืนริบทรัพย์สิน
ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ระหว่างพิจารณาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จำนวน 6 รายการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" ดังนั้น ทรัพย์สินตามคำร้องต้องด้วยข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระในการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มาตรา 29 (1) (2) ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต ทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีรายได้จากการประกอบอาชีพขายมีด ถ่าน และไม้กวาด สัปดาห์ละ 4 วัน ผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้จากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างสัปดาห์ละ 3 วัน รายได้จากการรับจ้างบรรทุกศพไม่แน่นอนแล้วแต่จะมีผู้ว่าจ้างไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินฝากในบัญชีแต่ละบัญชีจำนวนมาก บางเดือนมีเงินเข้าฝากหลายครั้ง และตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.16 และ ร.17 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ให้การด้วยว่ารู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 แม้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 แต่ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12490/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินคดียาเสพติด ผู้ไม่คัดค้านมิใช่คู่ความ อุทธรณ์ฎีกาไม่ชอบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31 ศาลชั้นต้นได้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจเป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดีแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามารวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีจึงมิใช่คู่ความ ไม่อาจยื่นอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และฎีกาในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในปัญหานี้ให้นั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11563/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจการริบทรัพย์สินในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด: ทรัพย์สินต้องเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในคดีที่ฟ้อง
ในคดีที่พนักงานอัยการร้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินของบุคคลตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 นั้น มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า "เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดและอายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินโดยจะยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้..." บทบัญญัตินี้มีนัยว่า ทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ริบนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องบุคคลใดเป็นคดีอาญานั้น เท่านั้น เมื่อทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ เป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวเพื่อทำการตรวจสอบในคดีอาญาที่ผู้คัดค้านถูกกล่าวหาว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี การยึดจึงสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 และเมื่อทรัพย์สินถูกยึดไว้ชั่วคราวแล้วก่อนวันที่ 26 มกราคม 2547 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายในคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษผู้คัดค้าน แสดงว่าทรัพย์สินทั้ง 5 รายการมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบตามมาตรา 27
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12179/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทรัพย์สินจากการสมรสได้รับการคุ้มครองจากการริบในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินสอด
สร้อยคอทองและกำไลข้อมือทองประดับอัญมณี เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านและ ส. ได้มาเนื่องในการสมรส จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้คัดค้านและ ส. ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านและ ส. ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งริบไม่ได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (2) แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์เข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านโดย ส. มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 28 และ 29 ผู้คัดค้านจึงไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของ ส. แทนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8401/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติดสิ้นสุดลงเมื่อศาลฎีกายกฟ้องคดีอาญา
บทบัญญัติมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์รายนี้ การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องอ้างว่าเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้านนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7343-7345/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: จำเลยที่ไม่คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ และประเด็นความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย
สำนวนคดีที่สองและที่สามที่โจทก์ในสำนวนแรกเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของกลางรวม 4 รายการ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 30, 31 นั้น ศาลชั้นต้นได้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวมายื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดีแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามา รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้งสี่รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว จึงมิใช่คู่ความ ไม่อาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อมาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และฎีกาในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้ให้นั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา