คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 29

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 30 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3605/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสันนิษฐานว่าทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และภาระการพิสูจน์ของจำเลย
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ...ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการครอบครองเพื่อขาย จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ผู้ร้องขอให้ริบย่อมต้องตามข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 29 (1) (2) ว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 นั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต ที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการประกอบกิจการบริษัท 2 แห่ง โดยมีหลักฐานเป็นสำเนาใบสำคัญรับและใบเสร็จรับเงิน และเคยชำระภาษีตามสำเนาใบสำคัญจ่าย 2 ฉบับ นั้นไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีหลักฐานทางบัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายของบริษัททั้ง 2 แห่ง หรือบริษัททั้ง 2 แห่ง เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อกรมสรรพากร อันแสดงให้เห็นว่าการประกอบกิจการของบริษัทดังกล่าวมีรายได้เพียงใด ข้อนำสืบของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับยาเสพติดส่งผลให้การยึดทรัพย์สินสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามยาเสพติด
คดีอาญาที่ผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดียาเสพติดส่งผลให้การยึดทรัพย์สินสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอำนาจริบทรัพย์
คดีอาญาที่ผู้คัดค้านถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงต้องบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านย่อมสิ้นสุดลงศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ จึงไม่จำต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ รวมทั้งผู้คัดค้านได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยทุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะหรือไม่ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8593/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสันนิษฐานทรัพย์สินเกี่ยวข้องยาเสพติด เมื่อผู้ถูกลงโทษเคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ถูกตรวจสอบต้องพิสูจน์หักล้าง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปรามปราบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อนตามบทบัญญติดังกล่าว ดังนั้น เงินหรือทรัพย์ของผู้คัดค้านที่มีอยู่หรือได้มาเกินฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต จึงถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์หักล้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3245/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: ต้องมีมูลความผิดฐานจำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสพเมทแอมเฟตามีน ยกฟ้องข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคดีถึงที่สุด โดยที่ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย" มาตรา 27 วรรคหนึ่ง "...เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น..." และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง "บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่ส่วนหากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น..." การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสพเมทแอมเฟตามีน จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ในอันที่จะขอให้ริบเงิน 130,000 บาท ของกลาง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบเงิน 130,000 บาท ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 29, 31 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเงินสดที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด: ไม่เป็นการฟ้องซ้ำเมื่อประเด็นต่างกัน
คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เงินสดของกลางจำนวน 116,600 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้คัดค้านทั้งสองตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ และให้ริบเงินสดดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ แต่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1815/2544 ของศาลชั้นต้นคดีก่อน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าเงินสดของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวที่ต้องริบให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และ ป.วิ.อ. หรือไม่ เห็นได้ว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีอาญาดังกล่าวและคดีตามคำร้องคดีนี้แตกต่างกัน การพิจารณาคดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำกับคดีอาญาดังกล่าว
เงินสดของกลางจำนวน 116,600 บาท เป็นของผู้คัดค้านทั้งสองที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตและผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่อาจพิสูจน์หักล้างได้ จึงต้องริบเงินสดจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามความในมาตรา 29 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: ผลของการยกฟ้องจำเลย และสิทธิในการคัดค้านของภริยา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ผู้ถูกฟ้องว่าเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับพวกกระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด และทรัพย์สินของผู้คัดค้านผู้เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 รวม 7 รายการ เนื่องจากเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยขอให้ริบตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31 ซึ่งตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง?" ดังนั้น เมื่อปรากฏหลักฐานว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา อันเป็นที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินที่ยึดจากการกระทำผิดยาเสพติด เมื่อศาลฎีกายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานนั้น
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." เมื่อปรากฏหลักฐานว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดการยึดทรัพย์จากคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และสิทธิในการขอคืนทรัพย์สินเฉพาะเจ้าของทรัพย์
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลง แต่เมื่อพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและของจำเลยที่ 3 คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12213/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด: ความแตกต่างระหว่างมาตรา 29 และ 30, สิทธิในการขอคืนทรัพย์สิน
ในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 นั้น มีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27 และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 ซึ่งกระบวนการการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินทั้งสองกรณีกฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกันโดยแยกต่างหากจากกัน ทั้งขั้นตอนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินหรือร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 และ 30 ก็มีความแตกต่างกันคือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 29 จะต้องมีการปิดประกาศไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างน้อยเจ็ดวันและให้ประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีแพร่หลายในท้องถิ่น ส่วนการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา 30 นั้น ไม่ต้องมีการปิดประกาศในที่ใด ๆ แต่ต้องมีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน นอกจากนี้การขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 29 นั้น ผู้เป็นเจ้าของสามารถร้องขอคืนได้ก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
"(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ"
ส่วนการร้องขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา 30 ผู้เป็นเจ้าของจะต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และศาลจะสั่งริบได้เมื่อปรากฏว่าเจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะบรรทุกขนส่งและซื้อขายยาเสพติดให้โทษจึงขอให้ริบรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถยนต์ จำนวน 2 ชุด ของกลางตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินในคดีนี้จึงเป็นการร้องขอตามมาตรา 30 ดังนั้น กระบวนการที่ศาลจะต้องไต่สวนและมีคำสั่ง จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 30 หาใช่มาตรา 29
พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะพร้อมกุญแจรถจำนวน 2 ชุด ของกลาง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิขอคืนของกลาง และไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้คัดค้านไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดอีกต่อไปหรือไม่
of 3