คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ.2530 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้างมลทินและผลต่อการพิจารณาโทษซ้ำ: ศาลล่างนำประวัติอาชญากรรมมาพิจารณาได้หรือไม่
บทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ มีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อนในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจ มาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้างมลทินในวโรกาส 50 ปีครองราชย์ และผลต่อการบวกโทษคดีเก่า
ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 นั้นนอกจากเป็นผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 11 กันยายน 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่ผู้นั้นได้รับโทษตามคำพิพากษาอยู่ และยังไม่พ้นโทษในวันที่11 กันยายน 2539 ก็ต้องได้รับอภัยโทษปล่อยตัวหรือพ้นโทษออกมาตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2539แล้วแต่กรณี การที่จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 6 เดือนแต่รอการลงโทษไว้ จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา กรณีของจำเลยจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจำเลยย่อมไม่ได้รับผลตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกัน จำเลยฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยไว้แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้และเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติไว้ แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และเมื่อรอการลงโทษจำคุกในคดีนี้ ย่อมไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน และผลต่อการนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบวกกับโทษใหม่
ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า"ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษพ.ศ. 2539 โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ" หมายความว่า ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษานั้น นอกจากเป็นผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 1 ตุลาคม 2539อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือในกรณีที่ผู้นั้นรับโทษตามคำพิพากษาอยู่ และยังไม่พ้นโทษในวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ก็ต้องได้รับอภัยโทษปล่อยตัวหรือพ้นโทษออกมาตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 แล้วแต่กรณีการที่จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่ศาลได้รอการลงโทษไว้จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา กรณีของจำเลยจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ได้รับผลตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯเช่นเดียวกัน
โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การรับว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีก่อน เพียงแต่ให้การรับสารภาพในความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบในข้อนี้ เมื่อโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏก็ไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: การพิสูจน์เจตนาผู้รับซื้อ ความผิดฐานรับของโจร การแก้ไขโทษจำเลย และการคืนทรัพย์สิน
จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร โจทก์ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ มิได้ขอให้ศาลริบของกลางดังกล่าว ศาลย่อมริบของกลางนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกและสมควรคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของตามที่โจทก์ขอ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งต้องคำพิพากษาและพ้นโทษไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5925/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยคดียาเสพติดซ้ำ และอำนาจศาลในการริบเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ผู้ที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 คือ ผู้ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แต่จำเลยยังไม่พ้นโทษในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่ได้รับผลจากพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยพ้นโทษฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองมายังไม่เกินห้าปี กลับมากระทำผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนอีกจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 97 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมิได้ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายเฮโรอีน เงินสดของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้ จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดในคดีนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบเงินสดของกลางด้วยจึงไม่ชอบ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหานี้แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5115/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษคดีเก่าที่รอการลงโทษไว้ กับคดีใหม่ที่กระทำภายในกำหนดเวลา และข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน
ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2530มาตรา 4 หมายถึงผู้ที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2530 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 แต่ศาลก็ได้รอการลงโทษไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้รับโทษและพ้นโทษแล้ว ไม่เข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยได้มากระทำผิดในคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลให้รอการลงโทษไว้ จึงต้องนำโทษในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษจำเลยในคดีอาญา โดยคำนึงถึงการล้างมลทิน และพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด
จำเลยกระทำผิดและเคยต้องโทษ ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และพ้นโทษไปก่อนแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าวจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษจำคุกจากคดีก่อนหน้าและการได้รับประโยชน์จาก พรบ.ล้างมลทิน
จำเลยและโจทก์ร่วมสมัครใจด่าทอซึ่งกันและกันก่อนเกิดเหตุแล้วจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยเช่นนี้ถือไม่ได้ว่ากระทำไปเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อคดีก่อนจำเลยกระทำผิดก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530และพ้นโทษไปก่อนแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษคดีอาญาที่รอการลงโทษและการตีความ 'ผู้ต้องโทษ' ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน
ขณะที่จำเลยกับผู้ตายโต้เถียง กันอยู่นั้น จำเลยได้ใช้มีดแทงผู้ตาย 1 ที ส่วนที่ผู้ตายใช้เหล็กตีศีรษะจำเลยนั้น ตีหลังจากที่จำเลยแทงผู้ตายแล้ว ดังนั้นขณะที่จำเลยแทงผู้ตายไม่มีภยันตรายที่จำเลยจะต้องป้องกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษาฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ" และมาตรา 3 ได้ให้ความหมายของคำว่า"ผู้ต้องโทษ" ไว้ว่า "หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือให้กักกัน..." ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2528 การที่ศาลกำหนดโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้เท่ากับจำเลยยังมิได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยจึงมิใช่ "ผู้ต้องโทษ" ตามความหมายของมาตรา 3,4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้ศาลจึงนำโทษจำคุกที่รอไว้มาบวกกับโทษในคดีนี้ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311-3312/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โทษจำคุกรอการลงโทษไม่ถือเป็นผู้ต้องโทษตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ทำให้สามารถนำโทษเดิมมาบวกกับโทษใหม่ได้
คดีเดิมศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ การที่ศาลกำหนดโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ เท่ากับจำเลยยังมิได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยจึงมิใช่ "ผู้ต้องโทษ" ตามความหมายของมาตรา 3, 4แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษาพ.ศ. 2530 และไม่ได้รับผลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงนำโทษจำคุกที่รอไว้มาบวกกับโทษจำคุกในคดีนี้ได้.
of 2