คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จำรูญ แสนภักดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 354 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9062/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาก่อสร้าง, ค่าแห่งการงาน, การชดใช้ค่าเสียหาย, และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนกันในการสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคาร ต่อมาสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกโดยปริยาย คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินแก่โจทก์ ส่วนเงินค่าก่อสร้างบ้านที่โจทก์เป็นผู้ชำระมิใช่ค่าการงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้แก่โจทก์อันโจทก์จะต้องรับผิด กับค่าตอกเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 กระทำไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ในการที่โจทก์จะสร้างอาคารใหม่ จึงไม่ใช่การงานที่ควรค่าอันโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินเป็นค่าแห่งการงานตอกเสาเข็มแก่จำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8750/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาออกแบบก่อสร้าง: การอนุมัติแบบแปลนและรายการราคาเป็นสำคัญก่อนมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้าง
ตามมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2532 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ข้อ 2.2 กำหนดว่า การออกแบบร่างขั้นสุดท้ายสถาปนิกจะใช้ข้อมูลที่ได้รับอนุมัติจากการออกแบบร่างขั้นต้น เพื่อออกแบบขั้นสุดท้ายเสนอแก่เจ้าของงาน สถาปนิกจะต้องเสนอเอกสารการประมาณราคาค่าก่อสร้างให้เจ้าของงานเห็นชอบและอนุมัติ และข้อ 2.3 กำหนดในเรื่องการทำรายละเอียดการก่อสร้างไว้ว่า หลังจากแบบร่างขั้นสุดท้ายได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของงานแล้ว สถาปนิกจะจัดทำรายละเอียดการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นเอกสารสัญญาและเอกสารขออนุญาต และสถาปนิกจะต้องส่งมอบเอกสารการประมาณราคาก่อสร้างให้แก่เจ้าของงานด้วยเช่นนี้ โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทสามัญสถาปนิก สาขาสถาปัตยกรรมหลัก จากคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม กระทรวงมหาดไทย น่าจะต้องประกอบวิชาชีพโดยมี จริยธรรมตามมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมดังกล่าวด้วย แม้สัญญาว่าจ้างออกแบบบ้านจะระบุเพียงว่า ผู้ว่าจ้างตกลงชำระค่าจ้างงวดที่ 1 เมื่อตกลงในแบบร่างและลงมือทำแบบจำนวน 100,000 บาท และชำระค่าจ้างงวดที่ 2 ที่เหลือทั้งหมดเมื่อผู้รับเหมาเสนอราคาก่อสร้างก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะลงมือทำแบบแปลนบ้าน อย่างไรก็ได้ โดยที่จำเลยผู้ว่าจ้างไม่มีโอกาสได้เห็นแบบแปลนบ้านนั้นและเห็นชอบด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างยัง ไม่เห็นชอบด้วยกับแบบแปลน และการเสนอราคาค่าก่อสร้างของผู้รับเหมาที่โจทก์เป็นผู้ติดต่อให้ตีราคา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างได้ตกลงและเห็นชอบด้วยในแบบแปลนบ้านและมีการเสนอราคาค่าก่อสร้างของผู้รับเหมาซึ่งจำเลยเห็นชอบด้วยแล้วตามสัญญาอันจะทำให้โจทก์ผู้รับจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เหลือจากจำเลยผู้ว่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอพิจารณาใหม่ต้องระบุเหตุขาดนัดทั้งยื่นคำให้การและมาศาลตามนัดสืบพยาน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง (เดิม) ที่บัญญัติว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ให้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ความหมายก็คือ ต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งทั้งสองประการ คือ ทั้งเหตุที่ได้ขาดนัดพิจารณาและทั้งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาด คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย กล่าวเพียงเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้นแต่จำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดพิจารณาเป็นเหตุที่จำเลยจะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะให้มีการพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8543/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายและนายหน้า ค่าคอมมิชชั่นเกิดขึ้นเมื่อยอมให้ผู้อื่นเสนอซื้อแทน แม้จะไม่ได้ชี้ช่อง
จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาของโจทก์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ 1 ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประกาศประกวดราคาให้ผู้สนใจเสนอขายที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการเขตโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าตกลงค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ตั้งไว้ หากขายได้เกินราคา ดังกล่าวเงินที่ขายเกินยอมยกให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างยื่นซองประกวดราคาเสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงเดียวกันแก่องค์การโทรศัพท์ โดยโจทก์เสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ คณะกรรมการ รับและเปิดซองประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนเสนอขายที่ดินเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของ จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แล้วมีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 และหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 8 ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ 2 และได้ชำระค่าที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กันเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 เนื่องจากโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนังสือ สัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ได้ทำกันไว้ในตอนแรกโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามข้อตกลง ดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการที่จำเลยที่ 1 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ได้ถอนซองประกวดราคาของโจทก์โดยปริยาย ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามเอกสารหมาย จ. 8 จากจำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บริษัทร้างเลิกสภาพนิติบุคคลแล้ว โจทก์ฟ้องไม่ได้ แม้มีบทบัญญัติเรื่องการชำระบัญชี
ตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่า นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามความในมาตรา 1246 แห่ง ป.พ.พ. แล้ว ดังนั้น บริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลย่อมสิ้นไป และตามมาตรา 1246 (5) ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกโดยผลของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ให้คืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อคืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) โจทก์ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตนเองตามกฎหมายอาญา: การต่อสู้กับผู้โจมตีและเหตุสมควรในการป้องกัน
ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้าน จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลังจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้ ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ จำเลยจากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่ ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่ตามไปหาเรื่องจำเลยอีก ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้ แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้อง กระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340-8341/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องคดีค่ากระแสไฟฟ้า, ลักษณะหนี้, ดอกเบี้ยผิดนัด, และการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า
โจทก์และจำเลยต้องปรับปรุงสัญญาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ในประเด็นราคาค่าจ้าง เพราะมีการยกเลิกระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องหักภาษีการค้าซึ่งเดิมรวมอยู่ในราคาค่าจ้างออกจากราคาค่าจ้างเดิม เพื่อให้เหลือราคาค่าจ้างที่แท้จริง การที่โจทก์และจำเลยไม่ได้แก้ไขสัญญาในเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้าเหมือนดังที่แก้ไขราคาค่าจ้างเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยยังคงยึดถือข้อตกลงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ คือมีหน้าที่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ในอัตรากิโลวัตต์- ชั่วโมงละ 1.20 บาท การที่โจทก์แยกคิดกระแสไฟฟ้าจากจำเลยโดยแยกเป็นค่ากระแสไฟฟ้ากิโลวัตต์ - ชั่วโมงละ 1.121495 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.078505 บาทนั้น ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่ากระแสไฟฟ้าไม่ครบ โดยขาดหายไปเท่ากับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์
โจทก์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังเช่นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคการที่โจทก์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยโดยคิดค่ากระแสไฟฟ้าในราคาที่ต่ำมาก แสดงว่าโจทก์ไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยในเชิงการค้าหากแต่เป็นการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งนอกจากโจทก์จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังต้องจัดหาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วส่งถึงบริเวณถังน้ำมันของเหมืองแม่เมาะให้แก่จำเลยตามสัญญาด้วยข้อตกลงเรื่องกระแสไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเงื่อนไขของสัญญาจึงเป็นเรื่องเฉพาะกิจ ไม่ได้ทำเป็นปกติธุระเช่นจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ประกอบกับหนี้คดีนี้เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย จึงคิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดตกบกพร่องเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหนี้ส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30
ตามสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยเป็นงวด ตามงวดของการทำงานที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์ และจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์หลังจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน ถ้าผิดนัดจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคาร แต่หนี้ในคดีนี้ไม่ใช่ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยตามงวดของการทำงานดังที่ระบุไว้ในสัญญา หากแต่เป็นหนี้ที่เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย ทำให้คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดจำนวนไป จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามอัตราที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคารตามสัญญา แต่เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340-8341/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าไฟฟ้า: กรณีไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าทั่วไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเหมา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตโจทก์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลทั่วไปดังเช่นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โจทก์ไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยในเชิงการค้า หากแต่เป็นการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างเหมาขุดดินและถ่านลิกไนต์ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งนอกจากโจทก์จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยดังกล่าวตามสัญญาแล้ว โจทก์ยังต้องจัดหาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วส่งถึงบริเวณถังน้ำมันของเหมืองแม่เมาะให้แก่จำเลยด้วย ข้อตกลงเรื่องกระแสไฟฟ้าระหว่างโจทก์และจำเลยตามเงื่อนไขของสัญญา จึงเป็นเรื่องเฉพาะกิจ ไม่ได้ทำเป็นปกติธุระ เช่นจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ประกอบกับหนี้คดีนี้เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย จึงคิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดตกบกพร่องเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหนี้ส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8296/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เช่าถูกรอนสิทธิจากผู้ครอบครองก่อนทำสัญญาเช่า ศาลตัดสินเรื่องอำนาจฟ้องขับไล่และค่าเสียหาย
โจทก์ทำสัญญาเช่าแท่นขายสินค้ากับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าในแท่นขายสินค้านั้นได้ เพราะจำเลยที่ 5 เข้าไปขายสินค้าอยู่ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 5 เข้าไปครอบครองแท่นขายสินค้าหาได้เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์และจำเลยที่ 5 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการละเมิดต่อผู้ให้เช่าหรือเจ้าของที่ดิน หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองแท่นขายสินค้า จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เช่าถูกรอนสิทธิในแท่นขายสินค้าที่เช่า โจทก์ต้องบังคับผู้ให้เช่าส่งมอบแท่นดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 การกระทำของจำเลยที่ 5 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ได้ แม้จำเลยที่ 5 จะไม่ได้ให้การไว้และไม่ได้ฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8275/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดสนับสนุนการยึดครองที่ดินในเขตป่าสงวนฯ จำเลยทราบพื้นที่ แต่ช่วยเอื้อประโยชน์
จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุเพื่อได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์เท่านั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เขตป่าสงวนแห่งชาติมีลำน้ำเป็นแนวเขตและมีหลักเขต พร้อมแผ่นป้ายแสดงแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติไว้ชัดเจน โดยอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยที่ 1 ติดต่อหารถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินที่เกิดเหตุ แม้จะทำเพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนจากเจ้าของรถแทรกเตอร์ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบ ก็ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
of 36