คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อรพินท์ เศรษฐมานิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,765 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7922/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: นายจ้างนำพยานหลักฐานเหตุอื่นมาต่อสู้ได้ หากเหตุนั้นเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติลูกจ้าง
ข้อห้ามไม่ให้นายจ้างอ้างเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ในภายหลังตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม นั้น จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ไม่รวมถึงสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้น แม้จำเลยจะระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ไม่สามารถขายสินค้าให้ได้ยอดตามเป้าหมายที่จำเลยกำหนดไว้จำเลยก็สามารถต่อสู้ว่า เพราะโจทก์ไปทะเลาะกับลูกค้าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพื่อให้เห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ และการที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงานนั้น ย่อมหมายความว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติพอที่จำเลยจะให้เป็นพนักงานขายต่อไป ซึ่งรวมถึงความสามารถในการขายสินค้า ความอดกลั้นและการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า จำเลยจึงสามารถนำสืบว่าระหว่างไปทวงหนี้ โจทก์ไปทะเลาะกับลูกค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ขาดความอดกลั้นและไม่มีมนุษยสัมพันธ์ในการเป็นพนักงานขายที่ดี ซึ่งอยู่ในประเด็นคำให้การของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7843/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทเลิกจ้าง: การลาออกโดยไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง และฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายลาออกเองและการลาออกของโจทก์เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างเพราะไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในการเลิกสัญญาจ้างกัน หากเป็นความจริงดังที่จำเลยต่อสู้ โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ และการที่โจทก์ลาออกมีผลในวันนั้นเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถหาครูมาสอนนักเรียนแทนโจทก์ได้ทัน จำเลยได้รับความเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณารวมกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7842/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำพิพากษาคดีแรงงาน: จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนชำระเงิน หากทำไม่ได้จึงชำระเงินได้
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จ เงินสะสม และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์นั้น เป็นการกำหนดให้จำเลยกระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ โดยให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานก่อนเป็นอันดับแรกหากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้จึงใช้วิธีชำระเงินเป็นวิธีสุดท้าย ซึ่งเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาว่าจำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ มิใช่ความชอบธรรมและเป็นอำนาจบริหารจัดการของจำเลยโดยเด็ดขาดที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงในประเด็นนี้จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31, 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์และค่าทำงาน แม้ตกลงในใบสมัครงานขัดกฎหมาย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันไว้ในใบสมัครงานว่าลูกจ้าง ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ข้อตกลงจึงขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และใช้บังคับไม่ได้ ลูกจ้าง ย่อมมีสิทธิได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์
จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้างหรือการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 65 (1) ที่จะทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 66 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าวตามมาตรา 62

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเกินกำหนดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้คำสั่งนั้นไม่มีผลบังคับ
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำการสอบสวนและมีคำสั่ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง หากมีกรณีจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งในกำหนดเวลาได้ก็ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของ ส. กับพวกเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544 แต่มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2544 ซึ่งเกินกว่า 60 วันโดยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาตามกฎหมายคำสั่งของจำเลยจึง ไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6369/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงานจำกัดเฉพาะตำแหน่งเดิม หากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโดยมิได้รับความยินยอม จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ อ. ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่า ตามที่โจทก์ตกลงรับ อ. เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย หาก อ. ได้ก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นแก่โจทก์หรือกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยยินยอมรับผิดชอบชดใช้หนี้สินและค่าเสียหายทั้งหมดที่ อ. ได้ก่อขึ้นโดยจะไม่อ้างเหตุผลใด ๆ มาปัดความรับผิดชอบเป็นอันขาด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่มีข้อความจำกัดว่าเป็นการค้ำประกันเฉพาะในตำแหน่งพนักงานขายและไม่มีกำหนดเวลาก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยค้ำประกันการทำงานของ อ. ในตำแหน่งพนักงานขายเท่านั้น เมื่อโจทก์เลื่อนตำแหน่งให้ อ. เป็นผู้จัดการสาขาอันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยมากขึ้นโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายที่ อ. ได้กระทำขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5394-5404/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าคอมมิชชั่น/เที่ยวเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน เมื่อจ่ายตอบแทนการทำงานปกติ
เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละคนซึ่งเป็นพนักงานขับรถและพนักงานยกของที่ไปกับรถของจำเลยเมื่อทำตามหน้าที่ของตน โดยจำเลยกำหนดอัตราไว้แน่นอนว่าเที่ยวหนึ่งจะจ่ายให้เท่าใด สามารถคำนวณได้ตามจำนวนเที่ยวที่ทำได้ในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงาน มีลักษณะชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานมิใช่จงใจจ่ายเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงาน เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้าง ตามความหมายของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326-5327/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงานในการรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติมหลังสืบพยานเสร็จสิ้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
วิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวนซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันจะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร การที่ศาลแรงงานฟังว่าโจทก์ที่ 2 มีค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,000 บาท โดยฟังจากคำเบิกความโจทก์ที่ 2 ประกอบเอกสารหนังสือแจ้งผ่านการทดลองงานที่โจทก์อ้างในบัญชีระบุพยาน แต่นำส่งศาลเป็นเวลาภายหลังโจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จแล้ว ก็ถือว่าศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320-5325/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณากำหนดค่าเสียหาย แม้คำฟ้องใช้คำว่า 'ค่าชดเชยพิเศษ'
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและบรรยายว่าโจทก์อายุมากแล้ว ทำงานมานาน ต้องเดือดร้อนเพราะมีภาระและการหางานใหม่ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ไม่ได้ใช้คำว่าค่าเสียหาย เมื่ออ่านคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโดยตลอดแล้ว ย่อมชัดเจนพอที่จะตีความได้ว่าหมายถึงขอให้พิจารณาความเสียหายและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางตีความว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นการตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ไม่ใช่กรณีมีข้อสงสัยจนต้องนำมาตรา 11 มาตีความ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4608/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแพ่งจากสัญญาจ้างแรงงานไม่เป็นฟ้องซ้อนคดีอาญาเรื่องยักยอกเงิน แม้มีคำขอให้คืนเงินเหมือนกัน
คดีอาญาเรื่องก่อน พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเงินและขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อันเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับเงิน เก็บรักษาเงิน อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน ตกลงว่าระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดพร้อมค่าปรับอีก 3 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินโจทก์ไปหลายครั้ง อันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินที่ยักยอกและค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีมูลจากสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน มิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาเรื่องก่อน
of 277