คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ เพชรรุ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 562 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3735/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การพิสูจน์การครอบครองทำประโยชน์ และผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
แบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เป็นเพียงเอกสารราชการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำขึ้นขณะมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มิใช่หลักฐานอันแสดงว่าโจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวเมื่อซื้อมาจากผู้อื่น
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาท โดยมิได้แบ่งแยกเนื้อที่ดินที่จำเลยแต่ละคนบุกรุก เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3695/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานมีรังนกไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบ ศาลลงโทษไม่ได้
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยร่วมกันไปบนเกาะรูสิบซึ่งมีนกและรังนกอีแอ่นอยู่ตามธรรมชาติอันเป็นเขตห้ามตามกฎหมาย และเป็นเขตที่บริษัท ร. ผู้เสียหายเป็นผู้รับสัมปทานและเข้ายึดถือครอบครองดูแลรังนกอีแอ่นในเขตสัมปทานเพื่อตนแล้ว จำเลยไม่ใช่ผู้รับสัมปทานได้ร่วมกันใช้ไฟฉายส่องใช้ไม้และแท่งเหล็กตีทำลายรังนกที่อยู่อาศัยอันเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นไข่ของนกและรังนกอีแอ่น และอาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นและที่อยู่อาศัยไปจากเกาะดังกล่าว แล้วจำเลยร่วมกันลักรังนกและลูกนกอีแอ่นของผู้เสียหายในเขตสัมปทานดังกล่าวไปโดยทุจริต โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันครอบครองซึ่งรังนกอันตนรู้ว่าได้มาโดยการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯ มาตรา 26 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 26 มาในฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'TRUSTY' ไม่เล็งคุณสมบัติสินค้า แต่บ่งเฉพาะ จึงจดทะเบียนได้ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การดำเนินการเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และของกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535มาตรา 3 และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้
โจทก์บรรยายว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำว่า TRUSTY ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียน คำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ ก็มิได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ชนิดใด หรือบ่งบอกคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่า เป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัย แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่า จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง แต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของเครื่องหมาย
การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาตรา 3 และมาตรา 5 จำเลยที่ 1 ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของ นายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนและโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศ คำสั่งของ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าาที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโจทก์โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงยังไม่ถึงที่สุดแม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้ แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ คำดังกล่าวก็หาได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารชนิดใด หรือบ่งบอกถึงคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่าเป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์ แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัยแต่อย่างใดไม่แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่าคำว่า TRUSTY จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรงแต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอ ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญา: คดี L/C-ทรัสต์รีซีทซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ แม้จำเลยมีภูมิลำเนาในประเทศ ก็ไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 มีความหมายถึงกรณีที่มีปัญหาข้อสงสัยยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าคดีนั้นเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) ถึง (11) หรือเป็นเรื่องที่ไม่แน่ชัดหรือเป็นที่สงสัยว่าเนื้อหาของข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การนั้นเกี่ยวกับเรื่องที่ถือว่าเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา 7(1) ถึง (11) ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงจะเป็นปัญหาที่ต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศและโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ในต่างประเทศแล้ว เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระให้โจทก์ จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทกับให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสามให้การเพียงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วยกันเท่านั้น ทั้งที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หากแต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกให้ตามคำขอของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศกับรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นคำฟ้องที่มีลักษณะเป็นคดีตามมาตรา 7(6) จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามมาตรา 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญา: คดีเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ
ในการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพและเหมาะสมยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งโดยทั่วไป ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯมาตรา 7(1) ถึง (11) ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะเจาะจงว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ดังนั้น หากคำฟ้องและคำให้การเห็นได้ชัดว่าเป็นคดีประเภทที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(1) ถึง (11) แล้ว ก็ต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ส่วนกรณีตามมาตรา 9นั้น เป็นเรื่องที่มีปัญหาสงสัยไม่ชัดแจ้งว่าคดีนั้นเป็นคดีประเภทใดหรือสงสัยในเนื้อหาของข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การว่าจะเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ หรือไม่ จึงจะเสนอให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยเมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศและทรัสต์รีซีทโดยชัดแจ้ง ซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7(6) กรณีจึงไม่จำต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ คดีเลตเตอร์ออฟเครดิต-ทรัสต์รีซีท แม้คู่สัญญาทั้งสองอยู่ในไทย
กรณีที่ประธานศาลฎีกาจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศหรือไม่ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 นั้น จักต้องเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่า คดีนั้นเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7 (1) ถึง (11) เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการซื้อขายระหว่างประเทศและทรัสต์รีซีทโดยแจ้งชัด จึงอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7 (5), (6) ไม่มีปัญหาอันต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3426/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันครอบคลุมหนี้ทั้งหมด, การหักทอนหนี้, และการอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การ
แม้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธินำเงินตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หักใช้หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ถึงกำหนดได้แต่บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวไม่มีเงินในบัญชีที่จะหักมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมิได้หักหนี้ จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดข้อตกลงอันจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่ผิดนัด โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้
ผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1/8 ต่อระยะเวลา 90 วัน นั้นคำนวณแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ 0.125 ต่อระยะเวลา 90 วัน หรือร้อยละ 0.5 ต่อระยะเวลา 360 วัน จึงไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียมมิใช่เรื่องดอกเบี้ย ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
สัญญาค้ำประกันระบุว่า เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้ลูกหนี้(จำเลยที่ 1) ทำนิติกรรมอันเป็นมูลหนี้กับโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ในนิติกรรมใด ๆ ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญานี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ค้ำประกัน (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6)ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค้ำประกันหนี้ทุกอย่างที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แก่โจทก์ จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท แต่เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยไม่นำไปหักทอนเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ นอกจากนี้ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่อ้างไว้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเงินกู้, อัตราดอกเบี้ย, การแปลงค่าเงิน, และขอบเขตการพิจารณาของศาล
เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7 ถือได้ว่าไม่มีปัญหาดังกล่าวในชั้นนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่จำต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9
การที่คู่กรณีมีข้อสัญญากันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิมิให้คู่กรณีนำคดีฟ้องต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติสัญญานั้นก็เป็นได้ หากคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการที่จะต้องเสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการ ก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 แต่จำเลยที่ 1มิได้ให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัท ส . ต่อโจทก์ แม้บริษัท ส. เป็นผู้รับเงินไปใช้ในกิจการของบริษัท ส. โดยจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 สามีก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
อัตราดอกเบี้ย SIBOR (Singapore Inter - bank Offered Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมเงินกันระหว่างธนาคารด้วยกันในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์) นั้นเป็นเพียงตัวตั้งเบื้องต้นของสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ย แม้โจทก์จะมิได้นำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ตาม ก็จะถือว่าการกู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ไม่ได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนั้นชอบแล้ว
ในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศนั้น ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะใช้เป็นเงินไทยก็ได้" อันเป็นการให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ที่จะเลือกชำระเงินให้โจทก์ด้วยเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์ขอหรือจะชำระด้วยเงินไทยก็ได้ตามแต่จำเลยทั้งสองจะสมัครใจ หากจำเลยทั้งสองเลือกจะชำระเป็นเงินไทย จำเลยทั้งสองก็ต้องชำระเงินไทยให้โจทก์ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลา ที่ใช้เงิน" ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดใน เงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังพิพากษาต่อไปอีกว่า "ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง?" ก็เป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของ จำเลยทั้งสองที่จะชำระหนี้ด้วยเงินไทยก็ได้ โดยถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตามสถานที่และวันที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง นั้นเอง มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทจำนอง - การบังคับชำระหนี้ - อัตราดอกเบี้ย - การชำระหนี้ด้วยเงินบาท
ธนาคารโจทก์ให้บริษัท ส. กู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 ภริยาจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นพยานและให้ความยินยอมต่อมาบริษัท ส. ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องบริษัท ส. เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรับสำเนาคำฟ้องและยื่นคำให้การแล้ว มิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใดอันเป็นเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามมาตรา 9 ทั้งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยานโจทก์และนำพยานจำเลยทั้งสองเข้าสืบอีกด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาแต่แรกจนเป็นการล่วงเลยขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาที่จะโต้แย้งในปัญหาดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลอีกต่อไป
การที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิคู่กรณีมิให้นำเสนอต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ได้ ดังนั้น การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดกันแล้ว หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีไม่มีการสืบพยาน เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ ก็จะสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 10 แต่คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันอาจมีสิทธิยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับข้อสัญญาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ซึ่งเป็นข้ออ้างที่บริษัท ส. มีอยู่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ก็ตามแต่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ในเรื่องดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นว่าชอบหรือไม่แต่อย่างใดถือว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ส. แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวก็ตามแต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรส เพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 2ผู้ภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
แม้ทางนำสืบของโจทก์จะไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่มีการเสนอกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (SingaporeInterbank OfferedRate:SIBOR) คิดกันในอัตราร้อยละเท่าใดต่อปีก็ตามแต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นเป็นเพียงตัวตั้งเบื้องต้นของสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์และบริษัท ส. ตกลงกัน โดยเขียนเป็นสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยต่อปีได้ว่า SIBOR+0.8%+11.111%(SIBOR) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่บริษัท ส. จะรับผิดชดใช้ให้โจทก์มากน้อยเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับ SIBOR เท่านั้นหาได้หมายความว่าเมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงอัตราดอกเบี้ย SIBOR ว่าเป็นเท่าใดแล้ว จะให้ถือว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และบริษัท ส. ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้ไม่เพราะหลังจากที่บริษัท ส. รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์แล้ว มีการคิดคำนวณดอกเบี้ยตามสูตรดังกล่าว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดมาตามอัตราดอกเบี้ยของ SIBOR ที่เป็นฐานคิดคำนวณนั้นเอง โดยที่บริษัท ส. มิได้โต้แย้งแต่ประการใด ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตรา 10.0847 ต่อปีหลังจากที่บริษัท ส. ผิดนัด จึงชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอันเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองเลือกที่จะชำระเงินด้วยเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทยก็ได้ตามแต่จะสมัครใจ หากจำเลยทั้งสองเลือกชำระเป็นเงินไทยก็ต้องชำระเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตามมาตรา 196 วรรคสอง ฉะนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาว่าในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าวในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณนั้น ย่อมเป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของตนที่จะชำระหนี้ด้วยเงินไทยก็ได้ มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
of 57