คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ เพชรรุ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 562 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7412/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่โจทก์นำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลย แม้จำเลยรับสารภาพก็ต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุน
ในคดีอาญา เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธแล้วก็เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนฟ้องและพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง เพราะแม้ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้ศาลรับฟังได้จนเป็นที่พอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงจะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134จะบัญญัติไว้ว่าถ้อยคำของจำเลยหรือผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ก็ตามแต่ถ้อยคำหรือคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนก็เป็นเพียงพยานหลักฐานของโจทก์อย่างหนึ่งที่โจทก์จะนำสืบสนับสนุนฟ้องเท่านั้น ดังนั้น ลำพังแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่อาจที่จะยกขึ้นมายันลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7332/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่, นับโทษกรรมต่างกันชอบ, อายุความความผิดปรับ
จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างไว้ในฟ้องอุทธรณ์เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้สำหรับจัดระเบียบสังคมให้ผู้คนในสังคมได้อยู่ร่วมกันด้วยความปกติสุข เมื่อจำเลยกระทำผิดก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมแล้ว จำเลยจึงต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในความผิดเรื่องนั้น ๆ จำเลยกระทำผิดในคดีอาญาเป็นการกระทำต่างกรรมกัน การที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง เป็นการใช้ดุลพินิจชอบ ไม่ได้ขัดต่อสิทธิมนุษยชนใด ๆ
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตามมาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 เกิน 1 ปีคดีของโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7328/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ที่ไม่สมบูรณ์: ราคา, หมายเหตุ, และเจตนาของคู่สัญญาเป็นสาระสำคัญ
แม้สัญญาพิพาทที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ร่วมกันจัดทำขึ้นจะระบุว่าเป็น "สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลง" ก็ตาม แต่การซื้อขายนั้นราคาของทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาอย่างหนึ่ง สัญญาพิพาทเป็นแบบพิมพ์สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงที่โจทก์พิมพ์สำเร็จไว้แล้วเพื่อนำมากรอกข้อความตามที่ตกลงกันเท่านั้น ซึ่งนอกจากไม่ได้กรอกข้อความในช่องวันเดือนปีที่ทำสัญญาแล้ว ในช่องราคาที่ตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงต่าง ๆ รวมทั้งเพลงพิพาทที่ ป. ผู้จดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์เบิกความว่า ตกลงกันเป็นเงิน 200,000บาทนั้น ก็มิได้ระบุจำนวนเงินไว้ ยิ่งกว่านั้นสัญญาพิพาทยังมีข้อความหมายเหตุไว้ท้ายสัญญาว่า "เพลงสุรพล สมบัติเจริญ ร้องไว้ขอให้เป็นสุรชัย สมบัติเจริญ ร้องแต่ถ้าหากว่าจะนำไปให้นักร้องอื่นร้อง ทางห้างจะมีการขอกันในกรณีพิเศษเป็นลายลักษณ์อักษร" โดยมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ลงกำกับไว้ ซึ่งความหมายของข้อความตามหมายเหตุดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่า โจทก์ยังมิได้มีลิขสิทธิ์ในงานเพลงรวมทั้งเพลงพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้ตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์กันแล้วตามบัญชีรายชื่อเพลงแนบท้ายสัญญาพิพาทในฐานะเป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์แต่อย่างใดเพราะหากมีการซื้อขายลิขสิทธิ์กันแล้วตามสัญญาพิพาท โจทก์ก็ย่อมได้สิทธิในงานเพลงนั้นทั้งหมด ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องไปตกลงขอใช้สิทธิในลิขสิทธิ์จากจำเลยที่ 3 เป็นกรณีพิเศษกันอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจำนองและการบังคับจำนอง, ดอกเบี้ย, ค่าทนายความ, การบอกกล่าวบังคับจำนอง
จำเลยที่ 1 เพียงแต่กล่าวอ้างในทำนองว่า ตามหลักฐานที่โจทก์จดทะเบียนไว้ต่อกรมทะเบียนการค้าตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารท้ายฟ้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือตัวแทนอยู่ต่างประเทศเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดอื่นเชื่อมโยงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำให้การปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้น
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองสำหรับทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 เท่านั้น และศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องการบังคับจำนองร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ต่อสู้ฟ้องโจทก์ในเรื่องการบังคับจำนองมาเพียงว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวบังคับจำนองโจทก์จึงไม่อาจฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลบังคับจำนองโดยนำที่ดินตามฟ้องออกขายทอดตลาดได้ ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์ข้อนี้ทำนองว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วน จึงถือว่าโจทก์ยอมสละเรื่องเวลาที่ได้กำหนดในเรื่องการบังคับจำนอง และหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองสิ้นผลนั้นเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ศาลลดเบี้ยปรับได้หากสูงเกินส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ตามปกติโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นเป็นประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ ถือได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มจากเดิมมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งให้อำนาจไว้ โดยไม่จำต้องมีฝ่ายใดอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7075/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายยาเสพติดปริมาณมากเกิน 100 กรัม (สารบริสุทธิ์) ศาลฎีกาแก้ไขบทมาตราผิด
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 51,400 เม็ด น้ำหนัก 4,657.390 กรัม คำนวณเป็น น้ำหนักสารบริสุทธิ์ 946.187 กรัมและเฮโรอีนจำนวน 333 หลอด น้ำหนัก 403.820 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 314.333 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเห็นได้ว่าเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้ เพื่อจำหน่ายต่างก็มีปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินหนึ่งร้อยกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือ ประหารชีวิต การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6759/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: การผิดสัญญาจากผู้ซื้อ การบอกเลิกสัญญา และสิทธิในการริบเงินวาง
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันในปี 2536แต่จำเลยเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2538 ดังนั้น ขณะจำเลยจัดสรรที่ดินในโครงการออกเสนอขายต่อโจทก์และบุคคลทั่วไป จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ข้อ 10 ประกอบข้อ 35 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐที่จะเข้าไปควบคุมให้จำเลยหรือผู้จะจัดสรรที่ดินได้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อความสะดวกสบายของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทก็ไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งใด ๆตามกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้เป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทั้งจำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นกลฉ้อฉลทำให้โจทก์ต้องเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลย การที่จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันนั้น แม้จำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ไม่ถึงกับให้รับฟังว่าเป็นกลฉ้อฉลของจำเลยอันจะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกำหนดให้โจทก์ชำระเงินเป็นงวด งวดละเดือนรวม 20 งวด และชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเป็นลักษณะผ่อนผันให้แก่กันเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มิได้เป็นสาระสำคัญที่จะให้ถือว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาทันทีตามกำหนดไว้แต่อย่างใด แต่การที่โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ 16 ให้แก่จำเลยแล้วไม่ชำระเงินค่างวดต่อไปให้แก่จำเลยให้ครบ 20 งวดอีกจนกระทั่งจำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระเงินที่เหลือภายใน 7 วันนับแต่วันรับหนังสือ โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและริบเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6565/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับรองเอกสาร, คำสั่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์อังกฤษ, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี, สิทธิเรียกร้องมูลหนี้, การบังคับตามคำสั่งศาล
โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีได้มีการรับรองว่าได้จัดทำขึ้นจริง โดยทนายความโนตารีปับลิกผู้ได้รับอนุญาตแห่งสำนักทนายความที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมของ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ทำหน้าที่โนตารีปับลิกถูกต้องตามบัทบัญญัติกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว แม้โจทก์จะได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย ก็เป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับที่ให้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรอีก
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยเช่าเหมาระวางเรือจากโจทก์ไปขนข้าวสารที่ท่าเรือเกาะสีชังไปส่งที่ประเทศเซเนกัล แต่มีข้าวสารบางส่วนเสียหายผู้รับตราส่งจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์กับพวก ศาลเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัลพิพากษาให้โจทก์กับพวกต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายไปแล้ว โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งตามสัญญาที่ทำกับจำเลย จึงได้ทวงถามให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จำเลยไปยื่น ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการประเทศอังกฤษ ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ประเทศอังกฤษ ให้ชี้ขาดว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการประเทศอังกฤษให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ แต่ศาลสูง แผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้ทวงถามค่าใช้จ่ายตามคำสั่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย และขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้อที่โจทก์อ้างอาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิฃย์ ประเทศอังกฤษ ให้มีคำสั่งในกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 หมวด 6 ว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้วินิจฉัยทั้งสองกรณี รวมตลอดเรื่องความถูกต้องของสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว
แม้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย แต่ก็เป็นคนละส่วนกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายให้โจทก์ ( The Defendant'pay the Plaintiffs' costs in any event) คำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เองจึงเป็นมูลหนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วยกคำร้องของจำเลย โดยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ไม่มีอำนาจพิจารณา หรือดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องรับผิด ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โนตารีปับลิกรับรองเอกสารในการส่งคำสั่งศาลให้แก่จำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6565/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี, คำสั่งศาลสูงอังกฤษ, ความรับผิด
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้มีการรับรองว่าได้จัดทำกันขึ้นจริงโดยทนายความโนตารีปับลิกผู้ได้รับอนุญาตแห่งสำนักทนายความซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ทำหน้าที่โนตารีปับลิกแล้ว จึงแสดงว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยชอบ ดังนั้น แม้จะได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยก็ย่อมถือได้ว่าเป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ กรณีไม่จำเป็นต้องอยู่ในบังคับที่ให้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ
คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างโจทก์และจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำการใดให้โจทก์ต้องเสียหายพร้อมคำขอให้บังคับจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์พอที่จำเลยจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้เท่านั้นส่วนการที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเหมาระวางเรือข้อใด สินค้าสูญหายหรือเสียหายเท่าใด คิดเป็นเงินเท่าใดโจทก์ชดใช้เงินให้ผู้รับตราส่งไปแล้วเท่าใดและได้ชำระเมื่อใดนั้นมิได้เป็นสาระที่จะเป็นเหตุทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใดเพราะโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือแต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ
แม้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยก็ตามแต่ก็เป็นคนละส่วนกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายให้โจทก์(TheDefendants'paythePlaintiffs'costsinanyevent)คำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์จึงเป็นมูลหนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วยกคำร้องของจำเลย โดยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ไม่มีอำนาจพิจารณาหรือดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างไรหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โนตารีปับลิกรับรองเอกสารในการส่งคำสั่งศาลให้แก่จำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการค้ำประกันหนี้ - ผลผูกพันบริษัท - อากรแสตมป์ - การรับรองการทำสัญญา
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธ ถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องโดยโจทก์ไม่ต้องอาศัยสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานอีกแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ. 56 ต้องปิดอากรแสตมป์ 20 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์มาเพียง 10 บาท จึงไม่ครบถ้วน ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 4 ในสัญญาค้ำประกันแทนจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันอันเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 4 ตรงตามข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 5 ทั้งในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 5 ก็มิได้มีข้อความจำกัดอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจไว้ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันในฐานะกรรมการจำเลยที่ 4 พร้อมประทับตราจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 4 ก็เป็นเรื่องระเบียบข้อบังคับภายในของจำเลยที่ 4 ไม่มีผลทำให้อำนาจของกรรมการในการกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ตามที่จดทะเบียนไว้แก่นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
of 57