คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 26/3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดโทษ ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีเก่า
ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุม ว. (ผู้คัดค้านที่ 1) ย. ป. และ จ. พร้อมยึด กัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นตันเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และ ป.ยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงสุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสามแต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดและกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าวกระทบแก่ความผิดเดิม และการใช้ดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อมและร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76/1 ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และเพิ่มเติมมาตรา 26/2 ฐานผลิตพืชกระท่อม และมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 75 และมาตรา 76/1 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษฐานผลิตพืชกระท่อมในมาตรา 75 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 75 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน และบทกำหนดโทษฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 76/1 วรรคสี่ ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 76/1 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากันเช่นเดียวกัน ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 51, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 51 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 8, 9, 101, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 101, 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสามจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันครอบครองยาเสพติด (กระท่อม) และเมทแอมเฟตามีน โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และมาตรา 9 ให้เพิ่มเติมมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด แต่ในส่วนบทกำหนดโทษได้มีมาตรา 17 ยกเลิกมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเพียงสถานเดียว ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ของกฎหมายเดิมมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3