คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2935/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญชาติไทยของเด็กเกิดในไทยจากมารดาถูกเพิกถอนสัญชาติ การพิสูจน์สถานะทางกฎหมาย และสิทธิในการออกบัตรประจำตัวประชาชน
จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ยอมออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์ที่ 1และไม่ยอมให้โจทก์ที่ 2 ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยอ้างว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าว ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ได้จะต้องปรากฏว่า บุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยในขณะที่มารดายังคงเป็นคนสัญชาติไทยอยู่ และมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย หาใช่โจทก์ทั้งสามเกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้น แม้ภายหลังมารดาโจทก์ถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) โจทก์ทั้งสามก็ไม่ใช่บุคคลที่ต้องถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 โจทก์จึงยังคงเป็นบุคคลสัญชาติไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย และการโต้แย้งสิทธิในสัญชาติจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ
นาง ป. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3และนาง ป. เป็นบุตรคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นาง ป.จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337เมื่อนาง ป. คนสัญชาติไทยอยู่กินฉันสามีภรรยากับนาย ก.คนญวนอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรส โจทก์ทั้งสามจึงมีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามเกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีย่อมได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) บุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยโดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้น จะต้องปรากฏว่าคนต่างด้าวนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อนาง ป.มารดาของโจทก์ทั้งสามไม่ใช่คนต่างด้าว และนาย ก. ก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสาม กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อันจะเป็นผลให้โจทก์ทั้งสามถูกถอนสัญชาติไทยโจทก์ทั้งสามจึงยังคงมีสัญชาติไทย.
เมื่อ พ.ศ. 2522 มารดาโจทก์ทั้งสามได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพแต่เจ้าหน้าที่ไม่จัดการให้โดยโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคนต่างด้าวเช่นนี้ แม้จำเลยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากิจการคนญวนอพยพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 ตลอดมาถึงวันฟ้องก็ตาม ตราบใดที่โจทก์ทั้งสามมีสัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพได้ให้จำเลยถอนชื่อออกแต่จำเลยไม่จัดการให้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามถูกโต้แย้งสิทธิตลอดมา จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการคนญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี.
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243(1) ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่นั้น อยู่ในดุลพินิจว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนสัญชาติไทยของบุตรจากมารดาชาวญวนอพยพ และบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จะเกิดในราชอาณาจักรไทยและได้สัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่ามีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด โจทก์ที่1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน และเป็นคนญวนอพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513-1514/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ: สัญชาติไทยยึดตามสัญชาติบิดา ณ เวลาเกิด แม้บิดาถูกถอนสัญชาติภายหลัง
จำเลยเป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีของมารดาได้ ส่วนบิดาของจำเลยและจำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรและจำเลยเกิดในขณะที่บิดาจำเลยมีสัญชาตไทย ดังนี้แม้ต่อมาในภายหลังบิดาจำเลยจะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จำเลยก็หาถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวด้วยไม่
ในคดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเกิดเมื่อใด ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญชาติไทยของบุตรเกิดในไทยจากบิดาต่างด้าวมีใบอนุญาต แม้แม่เป็นญวนอพยพ ไม่ถูกเพิกถอนสัญชาติ
บุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยชอบ ย่อมได้รับสัญชาติไทยและไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้มารดาของบุคคลเหล่านั้นจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองก็ตาม.(ที่มา-ส่งเสริม)
of 2