คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชวลิต ยอดเณร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,015 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระงับหนี้เดิม สิทธิเรียกร้องยังคงอยู่ ผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ร่วมกันรับผิด
สัญญาประนีประนอมยอมความคือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์มาแต่เดิม มาพบกับทนายความของโจทก์ แต่มิได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของตนมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญายอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยโดยขอผ่อนชำระจึงเป็นการตัดสินใจกระทำไปโดยลำพังด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 3 เอง และข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องเรียกร้องหนี้ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมแสดงชัดเจนแล้วว่าสัญญาที่ทำขึ้นนี้ไม่ทำให้หนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ระงับสิ้นไป แม้จะใช้ชื่อว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ก็หาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายไม่ เป็นเพียงสัญญาซึ่งจำเลยที่ 3 ที่เป็นบุคคลภายนอกยอมผูกพันตนเข้าร่วมชำระหนี้ของลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่โจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้
จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระตามสัญญาได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปอย่างลูกหนี้ร่วมกัน และเมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนตามแต่จะเลือก และการที่จำเลยคนหนึ่งชำระหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยอื่นด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ ศาลย่อมอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องชำระได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกเงินบริษัทเพื่อข่มขู่ทำสัญญาชำระค่าชดเชยถือเป็นเหตุให้สัญญาเป็นโมฆียะและเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการซึ่งมีอำนาจเบิกถอนเงินของจำเลยจากธนาคาร โจทก์ได้เบิกเงินของจำเลยจากธนาคารมาใช้ต่อรองกับ ค. กรรมการของจำเลยให้ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์เนื่องจากจำเลยมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ ทำให้จำเลยเสียหายเพราะเงินขาดหายไปจากบัญชี ซึ่งหากไม่ได้เงินนั้นคืนมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังมีอยู่ต่อไป การที่ ค. ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ก็เพื่อให้ได้เงินดังกล่าวกลับคืนมา สัญญาดังกล่าวจึงเกิดจากการที่โจทก์นำเงินที่เบิกไปเก็บไว้มาข่มขู่โดยแท้ การข่มขู่จึงนับว่าร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยเป็นโมฆียะและนับเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681-1683/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ vs. จ้างแรงงาน, การหักกลบลบหนี้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับค่าจ้างค้างจ่าย
สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาที่จำเลยที่ ตกลงให้โจทก์ที่ 3 ดำเนินการเกี่ยวกับการดัดแปลงอพาร์ตเม้นต์เป็นโรงแรม จัดหาบุคลากรที่เหมาะสมมาทำงานที่โรงแรม และวางแผนการตลาดให้โรงแรมมีกำไร เป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำเดือนละ 140,000 บาท แม้โจทก์ที่ 3 ได้เข้าทำงานทุกวันคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 8.30 ถึง 17.00 นาฬิกาก็มิใช่เป็นการทำงานตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด แต่เป็นการเข้าไปทำงานยังสถานที่ที่จำเลยที่ 1 จัดหาไว้ตามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างผู้จ่ายค่าจ้างอันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎษกร มาตรา 40 (1) ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งตามจำนวนที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ของมาตรา 50 (1) แล้วนำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52 หากนายจ้างมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ หรือหักไม่ครบ หรือไม่นำส่งในจำนวนที่ถูกต้อง นายจ้างต้องรับผิดจ่ายเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมดอกเบี้ยปรับและเงินเพิ่มร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้เมื่อจำเลยที่ 1 ได้จ่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายย้อนหลังตามจำนวนที่ต้องจ่ายสำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จ้ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปคืนจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ และสามารถหักจากค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อชำระค่าภาษีเงินได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1641-1642/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีรับค่าตอบแทนจากบริษัทอื่นขัดต่อหน้าที่และข้อบังคับของบริษัท
จำเลยที่ 1 มอบหมายให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนเรือขนส่ง มีหน้าที่กำกับดูแลการขนส่งทางทะเลและท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 รับผิดชอบความปลอดภัยของเรือที่รับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งก่อนทำสัญญากับผู้รับขนส่ง โจทก์ต้องตรวจเรือที่มารับขนส่งให้ได้มาตรฐานเสียก่อน โดยจำเลยที่ 1 มีนโยบายให้ตรวจปีละครั้งโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งและเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ป. ซึ่งนำเรือมารับขนส่งน้ำมันให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขนส่งน้ำมันในท่าเทียบเรือของจำเลยที่ 1 ทำให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 เสียความเชื่อถือในการให้บริการท่าเทียบเรือ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.1 (6) ของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า "เสนอหรือรับของมีค่าหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการบรรจุเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ การประมูลการเช่า การทำสัญญาหรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยมิชอบผู้อื่น" เป็นความผิดซึ่งนับเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดเกณฑ์เกษียณอายุตามตำแหน่งงาน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ หากหลักเกณฑ์เดียวกัน
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า "ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้" เป็นการกำหนดหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมกันในการจ้างงาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างมีเพศแตกต่างกันเท่านั้น มีข้อยกเว้นให้ปฏิบัติแตกต่างกันได้ก็ต่อเมื่อลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติให้เท่าเทียมกันได้ ปรากฏว่าคำสั่งของผู้ร้องที่ให้ลูกจ้างเกษียณเมื่ออายุแตกต่างกัน โดยพนักงานคนงานชายและหญิงเกษียณอายุ 50 ปี บริบูรณ์ พนักงานโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 55 ปี บริบูรณ์ และพนักงานหัวหน้าโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 57 ปี เป็นการกำหนดโดยอาศัยตำแหน่งงานของลูกจ้างว่าลูกจ้างตำแหน่งใดจะเกษียณอายุเมื่อใด หาใช่เอาข้อแตกต่างในเรื่องเพศมาเป็นข้อกำหนดไม่ ลูกจ้างในตำแหน่งเดียวกันไม่ว่าชายหรือหญิงยังต้องเกษียณอายุโดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน คำสั่งของผู้ร้องดังกล่าวจึงไม่ขัดกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 วรรคสอง และมิได้ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551-1553/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักงานพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกกล่าวหาทุจริต สิทธิการรับค่าจ้างระหว่างพักงาน
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการพักงานตามมาตรา 116 และ 117 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 4 (2) เมื่อ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มิได้บัญญัติเรื่องการพักงานไว้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต จำเลยย่อมมีสิทธิพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนได้ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย ซึ่งตามหมวด 3 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่า "ในระหว่างที่ถูกสั่งพักงานธนาคารจะควรจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่พึงได้รับหรือไม่อย่างไร กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้สั่งการ" เมื่อต่อมากรรมการผู้จัดการใหญ่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากธนาคาร โดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ให้ทั้งสิ้น ประกอบกับบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 575 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้" หมายความว่า ลูกจ้างจะได้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เนื่องจากมีข้อเท็จจริงอันควรเชื่อว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งเป็นคำสั่งพักงานที่ชอบโดยไม่ได้กลั่นแกล้ง และในระหว่างพักงานโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530-1532/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการขายแบตเตอรี่และการชดใช้ค่าเสียหายจากลูกจ้าง
หนี้ค้างชำระอันเกิดจากการขายแบตเตอรี่ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อไปขายต่อเพื่อแสวงหากำไรอันเป็นการประกอบธุรกิจการค้าของลูกค้ามีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มิใช่กรณีลูกค้าซื้อไปเพื่อใช้เองอันมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยทวงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หนี้ที่ค้างชำระยังไม่ครบอายุความ 5 ปี แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะทวงหนี้จากลูกหนี้ไม่ครบทุกรายและเมื่อลูกหนี้ค้างชำระหนี้เกิน 2 ปีแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ตั้งสำรองหนี้สูญอันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม แต่ผลเสียหายที่จำเลยติดตามหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระไม่ได้เกิดจากจำเลยเข้าใจผิดว่าหนี้ที่ลูกค้าค้างชำระนั้นมีอายุความ 2 ปี และขาดอายุความแล้วจึงไม่ได้ฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยไม่ติดตามฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ มิใช่เป็นผลมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ทวงหนี้ และไม่ตั้งสำรองหนี้สูญ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอายัดเงินเดือน เงินโบนัส หรือเงินบำเหน็จของโจทก์ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพื่อชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานเป็นผลจากการโอนย้ายและหนังสือรับรองการจ้างงาน นายจ้างมีอำนาจเลิกจ้างเฉพาะตน
บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด และจำเลย เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแต่จดทะเบียนแยกต่างหากคนละประเทศกัน โจทก์เคยทำงานในบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด ต่อมาโจทก์ได้รับการโอนย้ายมาทำงานกับจำเลย จากนั้นโจทก์ก็ได้รับการโอนย้ายมาทำงานในบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อยอมรับข้อเสนอการจ้างงานตามหนังสือแจ้งการโอนย้ายดังกล่าว ซึ่งในหนังสือมีข้อความระบุถึงสถานที่ทำงาน ตำแหน่งงานของโจทก์ รวมทั้งเงินเดือน เงินโบนัส เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักอาศัย วันลาพักผ่อนประจำปี สวัสดิการอื่น การบอกเลิกสัญญาจ้างและอื่น ๆ หนังสือนี้จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด กับโจทก์ ดังนั้น บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวทั้งสามจะเป็นบริษัทลูกซึ่งมีบริษัทแม่เดียวกัน แต่เมื่อต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน ย่อมมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นกรณีที่บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ในฐานะนายจ้างบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในขณะที่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ทั้งยังไม่มีข้อความหรือข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใดว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้กระทำการแทนจำเลย จึงถือไม่ได้ว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้เลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินโบนัส ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ใช่ค่าจ้าง จึงไม่นำมารวมคำนวณค่าชดเชย
เงินโบนัสโจทก์ได้รับเป็นประจำปีโดยจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ปีละ 1 ครั้งพร้อมกับเงินเดือนงวดที่ 12 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมของแต่ละปี มิใช่แบ่งจ่ายเป็นงวดดังเช่นการจ่ายเงินเดือน และระบุการจ่ายว่าเป็นเงินโบนัส สำหรับค่าน้ำและค่าไฟฟ้าแต่เดิมจำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ต่อเมื่อต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงประกอบการเบิกจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แสดงให้เห็นว่าค่าน้ำค่าไฟฟ้า เป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการโดยแท้ ไม่มีเจตนาที่จะจ่ายให้เป็นเงินค่าจ้าง แม้ต่อมาโจทก์จะไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดงก็เนื่องจากโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นการอำนวยความสะดวกและให้เกียรติโจทก์และเป็นจำนวนไม่มาก จึงเหมาจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือน เงินดังกล่าวนี้ก็ยังคงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นสวัสดิการเช่นเดิม ดังนั้น ทั้งเงินโบนัส เงินค่าน้ำ และเงินค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญาจ้างแรงงาน กรณีเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่
จำเลยค้ำประกัน ช. ในขณะที่ ช. มีตำแหน่งผู้ช่วยจัดโชว์สินค้าตามห้างซึ่งไม่เกี่ยวกับการขายสินค้าของโจทก์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเงินอันเนื่องมาจากการขายสินค้าซึ่งตามสภาพงานจะต้องมีทั้งสินค้าใหม่ๆ เงินที่ขายสินค้าหมุนเวียนผ่านมือไป อันมีลักษณะการทำงานแตกต่างไปจากการช่วยจัดโชว์สินค้าอย่างสิ้นเชิง งานตำแหน่งพนักงานขายสินค้าจึงถือได้ว่าอยู่นอกเหนือเจตนาและความมุ่งหมายจะผูกพันตนของจำเลยตามสัญญาค้ำประกันในขณะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน การที่ ช. ได้กระทำความเสียหายแก่โจทก์ขณะอยู่ในตำแหน่งพนักงานขายสินค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
of 202