คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชวลิต ยอดเณร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,015 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6786/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง: สิทธิที่เกิดหลังสัญญาจ้างสิ้นสุดมีอายุความ 10 ปี
คำว่า "ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น" ที่ลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) หมายถึงสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง แต่สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ลูกจ้างเรียกร้องเอาจากนายจ้าง อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเลิกจ้างภายหลังสัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว ไม่ใช่สิทธิตามสัญญาจ้าง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/34 (9) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6783/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: อำนาจบริหารเต็มและการไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาทำให้ไม่เข้าข่ายลูกจ้าง
ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้างซึ่งต้องทำงานตามที่นายจ้างมอบหมายในวันเวลาทำงานที่นายจ้างกำหนด และต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากฝ่าฝืนนายจ้างลงโทษได้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มาตรา 119 และ ป.พ.พ. มาตรา 583 เมื่อโจทก์มีอำนาจเต็มในการบริหารกิจการและไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ไปตามที่เห็นสมควร เพียงแต่รายงานผลการทำงานให้กรรมการอื่นทราบเดือนละครั้ง ดังนี้โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6775-6776/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องต่างกรรมต่างวาระในคดีแรงงาน ต้องไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม
ตามคำฟ้องเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ซึ่งไม่เป็นความจริง สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือโจทก์ทั้งสองถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือเหตุที่เลิกจ้างนั้นไม่มีอยู่จริง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดและคืนเงินประกัน ซึ่งค่าเสียหายจากการละเมิดนั้นเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโจทก์ทั้งสองขอเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยจงใจกลั่นแกล้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอกแก่โจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิเหนือจำเลยคือจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริงว่าโจทก์ทั้งสองยักยอกทรัพย์ ด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจากการร้องทุกข์นั้นทำให้โจทก์ทั้งสองถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นคดีอาญาได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถประกอบอาชีพในระหว่างถูกจับกุม แม้ว่าตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจะเป็นเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเช่นกัน แต่เป็นการกระทำละเมิดเนื่องจากการร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องเดิม คำฟ้องภายหลังตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจึงไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 179 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6774/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาเหตุผลความสามารถและมาตรฐานการทำงานของลูกจ้าง
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอให้เลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้วางหลักเกณฑ์ของมาตรฐานการทำงานไว้ และโจทก์ได้รับการประเมินผลงานในเกณฑ์ดีกว่ามาตรฐานตลอดมา ไม่มีช่วงใดเลยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น แม้ประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์จะลดลงไปบ้าง แต่ต้องถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบจึงฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยมีรายได้ลดลงตั้งแต่ปี 2543 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันทางธุรกิจของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือ และบริการโทรทางไกลราคาประหยัดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แม้โจทก์ซึ่งมีหน้าที่เสนอกลยุทธ์ในการตลาดเพื่อแข่งขันกับภายนอก และโจทก์ไม่มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจภายนอกให้เป็นผลสำเร็จดังที่จำเลยอ้าง แต่โจทก์ก็ยังทำงานได้เกณฑ์ตามมาตรฐานของจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง จำเลยไม่สามารถเสนองานในตำแหน่งที่เหมาะสมให้แก่โจทก์ได้ จึงยังไม่ใช่เหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลแรงงานต้องพิจารณาพยานหลักฐานจากทุกฝ่าย ไม่จำกัดเฉพาะสำนวนพนักงานตรวจแรงงาน
การพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามกฎหมายดังกล่าวหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 หรือในกรณีที่เป็นคดีทำนองเดียวกับคดีปกครองแล้ว ในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น ศาลแรงงานจะพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใด ๆ ที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานไม่ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานดังกล่าวคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยพิจารณาข้อเท็จจริงเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงาน โดยมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์นำสืบเพิ่มเติมไว้ในการพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาลงนามคนเดียว ทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณา
ศาลแขวงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลแขวงมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลแขวงจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาลงโทษจำคุกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยผู้พิพากษาคนเดียว ทำให้คำพิพากษาไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาคนเดียว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5911/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการลูกจ้างเข้าประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน และมาตรา 34 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน เมื่อจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อโจทก์ อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามที่มาตรา 34 บัญญัติไว้ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันจะพึงมีในฐานะเป็นผู้ประกันตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738-5742/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการไม่ใช่ค่าจ้าง, ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย, การคำนวณค่าจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าอาหารเดือนละ 600 บาท ซึ่งจ่ายเท่ากันเป็นประจำทุกเดือนนอกเหนือจากเงินเดือน ค่าอาหารจึงเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จำเลยที่ 1 หักเป็นเงินสวัสดิการพนักงานไว้ร้อยละ 22 ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการจึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานผู้เป็นลูกจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะหักเงินค่าบริการไว้ร้อยละ 22 เป็นสวัสดิการพนักงานก็ไม่ทำให้เงินค่าบริการกลายเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงาน เงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้าง นำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้ ดังนั้น ค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเท่ากับเงินเดือนที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมา ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรวมเงินค่าบริการเข้ากับเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ระบุว่ามีเงินค่าบริการไว้ในคำฟ้อง เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน โจทก์ที่ 2 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 (3) (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ต้องเป็นการลดจำนวนลูกจ้างจากเทคโนโลยีใหม่ มิใช่จากการปรับโครงสร้างหรือโยกย้าย
การเลิกจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 121 และมาตรา 122 ต้องเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดจำนวนลูกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทดแทนการใช้แรงงานของลูกจ้าง คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงโครงสร้างงานฝ่ายสินเชื่อโดยนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สมาใช้ทำงานปรับปรุงหน่วยงานและบริการ ระบบโปรแกรมคาร์สเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในงานฝ่ายสินเชื่อธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ ใช้งานด้านวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อ ทำรายงานสินเชื่อและใช้แทนแรงงานคนได้ เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลกโดยได้มีการติดตั้งระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สเพื่อทดลองใช้บางจุด เนื่องจากจำเลยที่ 1 คิดว่าอาจได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์สินเชื่อ แต่ต่อมาประเทศอินเดียได้รับการพิจารณาเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์สินเชื่อ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้นำระบบโปรมแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สมาใช้ แต่จำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงจอภาพคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์ส ทำให้จำเลยที่ 1 ปรับลดพนักงานสินเชื่อและยุบเลิกฝ่ายสินเชื่อในเดือนมีนาคม 2543 แล้วย้าย ก. หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์และเลิกจ้างโจทก์ในเดือนธันวาคม 2543 โจทก์จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรเลขานุการ ไม่มีความรู้และประสบการณ์งานด้านการตลาดและสินเชื่อโดยตรง แม้โจทก์จะทำงานในฝ่ายสินเชื่อแต่โจทก์มิได้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานสินเชื่อที่ต้องรับผิดชอบในส่วนงานสินเชื่อโดยตรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นเพียงเลขานุการบริหารของ ก. หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นเลขานุการของ ก. เนื่องจาก ก. ได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มิใช่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรภายในฝ่ายสินเชื่อ อีกทั้งไม่ใช่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนการทำงานของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว
of 202