คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ม. 45

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดมาตรา 112: การปราศรัยเปรียบเทียบตนเองกับพระบรมวงศานุวงศ์ และอ้างอิงสถานที่ในพระราชวัง
พยานบุคคลที่เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม ย่อมรับฟังความเห็นนั้นประกอบกับข้อความที่อ้างว่าเป็นหมิ่นประมาทได้ พระบรมมหาราชวัง เป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมราชินี เป็นที่ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาพระราชโอรสทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปในเมื่อแผ่นดินว่างกษัตริย์ ลงคนภายนอกจะมาเกิดในพระบรมมหาราชวัง มิได้ ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวต่อประชาชนว่าถ้าจำเลยเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้งแต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯสยามมงกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าว จะเป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย ซึ่งปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับประมวลกฎหมายอาญาอย่างแจ้งชัดว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไปแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯตลอดมาตั้งแต่โบราณกาลการที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกินเปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการและเลขาธิการพรรคการเมือง ได้กล่าวต่อประชาชนเพื่อช่วยหาเสียงให้แก่สมาชิกพรรคการเมืองของตนมีความว่า ถ้าเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระไม่ต้องมายืนตากแดด พูดให้ประชาชนฟังถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีบ่ายสามโมงพอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจ เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาททรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใด ๆ ต่างกับจำเลยที่เป็นลูกชาวนา ต้องทำงานหนัก ซึ่งข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงจึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำดังกล่าวของจำเลยจะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวนั้นก็ตาม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จะถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเองมิได้ ต้องพิจารณาจากข้อความที่จำเลยกล่าวทั้งหมด การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่าไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง การที่จำเลยเป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน หลังจากเกิดเหตุแล้วยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลของพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปรานีลดโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ การใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบสถาบันฯ เป็นความผิด แม้ไม่มีเจตนา
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 2,6,45,46 และ 54 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึง 112 แสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป
พระบรมมหาราชวังเป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมราชินี เป็นที่ประสูติพระราชโอรสและพระธิดาดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนว่า ถ้าจำเลยเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระนั้น แม้จำเลยมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้ง ก็ย่อมแปลเจตนาของจำเลยได้ว่า จำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท
ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบข้อความที่จำเลยกล่าวด้วย การที่จำเลยกล่าวว่า ถ้าเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระไม่ต้องมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมตื่นอีกทีบ่ายสามโมง พอตกเย็นก็เสวยน้ำจันฑ์ให้สบายอกสบายใจนั้น เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาททรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจ ใด ๆ เวลาเที่ยงเสวยเสร็จก็บรรทมไปจนถึงเวลาบ่ายสามโมงตกตอนเย็นก็เสวยน้ำจันฑ์อย่างสบายอกสบายใจ ต่างกับจำเลยซึ่งเกิดเป็นลูกชาวนาต้องทำงานหนัก มีแต่ความยากลำบากเพราะเลือกเกิดไม่ได้ คำกล่าวของจำเลยนี้ พยานโจทก์ทุกปากประกอบด้วยบุคคลจากหลายท้องถิ่นและหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ครูอาจารย์ ทนายความ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนา ล้วนเบิกความให้ความเห็นสรุปได้ว่า จำเลยกล่าวหาใส่ความว่าทั้งสามพระองค์ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติภารกิจใด ๆ เอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา อันแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปต่างเห็นว่าจำเลยเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯองค์รัชทายาท ความเห็นของพยานโจทก์นี้เป็นความเห็นประกอบกับข้อความที่อ้างว่าเป็นหมิ่นประมาทย่อมรับฟังได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบข้อความที่จำเลยกล่าวทั้งหมดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำของจำเลยจะไม่บังเกิดผล เพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวของจำเลย จำเลยก็หาพ้นความรับผิดไม่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112
จำเลยเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายสมัย และเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ได้ประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดหาทุนสร้างสวนหลวง ร.9 และหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นับว่าเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อน นอกจากนี้หลังจากเกิดเหตุแล้ว จำเลยยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ห้องรับรองของรัฐสภา และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางราชเลขาธิการ เป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปรานีลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78.(ที่มา-ส่งเสริม)