พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างรายเดือนที่ลงเวลาทำงานเท็จ แต่ไม่ทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเลิกจ้างได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้แน่นอน และการคิดค่าจ้าง รายเดือนมิได้นำจำนวนวันหรือจำนวนชั่วโมงที่โจทก์เข้าปฏิบัติงานจริงเป็นเกณฑ์คำนวณค่าจ้าง ถ้าโจทก์ขาดงานหรือไปปฏิบัติงานสายบ้าง โจทก์ก็มิได้ถูกลดหรือถูกตัดค่าจ้างในวันดังกล่าว โจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างรายเดือนเต็มจำนวน การที่โจทก์ไปปฏิบัติงานจริงเวลา 8.20 นาฬิกาแต่ลงเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 6 นาฬิกา แม้เป็นเท็จแต่เมื่อไม่ทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างหรือประโยชน์อย่างอื่นจากจำเลยเพิ่มขึ้น จึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของ โจทก์ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นเพียงการไปปฏิบัติงานสายและรายงานเท็จเกี่ยวกับเวลาเริ่มปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงการที่จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์ไปปฏิบัติงานสาย แล้วโจทก์ยังรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาอีก ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างให้โจทก์กับไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบบริษัท ศาลฎีกายืนตามศาลแรงงาน
โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ แต่รู้เห็นยินยอมให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำอุปกรณ์ของจำเลยผู้เป็นนายจ้างออกไปทำหน้าที่ผู้จัดการประจำเขตการขายที่โจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ และการเป็นผู้จัดการประจำเขตเป็นคุณสมบัติเฉพาะบุคคลซึ่งผ่านการคัดเลือกจากจำเลยหาใช่มอบหมายให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่ผ่านการคัดเลือกมาทำการแทนได้ไม่ การที่โจทก์ไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่รับเงินค่าจ้างทุกเดือนย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จะอ้างว่าเป็นลูกจ้างรายเดือนวันที่ไม่ทำงานยังมีสิทธิได้ค่าจ้างจึงไม่เป็นการทุจริตหาได้ไม่ เพราะลูกจ้างจะได้ค่าจ้างในวันที่ไม่ทำงานต้องเป็นกรณีลาหยุดงานโดยชอบหรือเป็นกรณีอื่น ที่กฎหมายบัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง แม้ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยไม่ได้ระบุว่าการกระทำใดเป็นความผิด และมีเพียงบทลงโทษการที่โจทก์ไม่ออกไปทำงานก็ตามแต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยมีตำแหน่งผู้จัดการประจำเขตการขายรับผิดชอบงานขายและจำเลยได้มีหนังสือส่งถึงโจทก์โดยตรง กล่าวย้ำถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งของโจทก์ ซึ่งลักษณะงานต้องติดต่อกับสาวเอวอนตลอดเวลา และหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดระบุชัดว่า รถยนต์ที่บริษัทจำเลยจัดหาให้โจทก์ จำเลยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ผู้จัดการประจำเขตนำไปใช้เด็ดขาด การที่โจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบต้องติดต่อสาวเอวอนตลอดเวลา แต่โจทก์ ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ออกปฏิบัติงาน โดยรู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่น ออกแสดงเป็นผู้จัดการประจำเขต ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบ เกี่ยวกับการทำงานอยู่ในตัว และที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้ อ. ซึ่งไม่ใช่พนักงานของจำเลย นำรถยนต์ประจำตำแหน่งของจำเลย ไปใช้ย่อมเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยแจ้งชัด และนอกจากนี้การที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้ อ.เรียกเก็บค่าสมัครสาวเอวอนโดยไม่มีสิทธิ แอบอ้างชื่อสาวเอวอนสั่งสินค้า จากจำเลยแล้วไม่ชำระค่าสินค้า ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียง เกียรติคุณ และเสียทางทำมาหาได้ ถือได้ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอม ในการก่อความเสียหายดังกล่าวให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานฟังว่าโจทก์ยินยอมให้ อ.นำอุปกรณ์ไปรับสมัครสาวเอวอน เก็บค่าสมัคร แอบอ้างชื่อสาวเอวอน สั่งสินค้านำหลักฐานของผู้อื่นไปแอบอ้างสมัครทำให้จำเลยเสียหาย เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้าง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5105/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หากไม่มีความเสียหายร้ายแรง หรือเจตนาทุจริต ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งหัวหน้า พนักงานรักษาความปลอดภัย แม้มีประกาศของจำเลยกำหนด ให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่า ห้ามมิให้พนักงานทุกคนของจำเลยตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานและเลิกงาน แทนกันโดยเด็ดขาดก็ตาม แต่การที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลา เลิกงานแทน ว.ก็ดีหรือที่โจทก์ให้ว.ตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ก็ดี เมื่อฟังไม่ได้ว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย อย่างไรเป็นพิเศษยิ่งกว่าการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หรือทำให้โจทก์ พ.หรือว. ได้รับผลประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมกว่าปกติจากจำเลยนอกเหนือจากค่าจ้างที่บุคคลทั้งสามจะพึงได้รับตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือโจทก์มีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นอย่างใดดังนี้ การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ โดยการลงเวลาทำงานเท็จ แม้จะมีการจ่ายค่าจ้างแล้วก็เลิกจ้างได้
เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.2.1 จำเลยกำหนด ให้พนักงานต้องบันทึกเวลาเข้าทำงานและเลิกงานด้วยตนเองทุกครั้ง ห้ามบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือรู้เห็นเป็นใจ ให้ผู้อื่นบันทึกเวลาให้ นอกจากนี้ตามประกาศ เรื่องการขาดงาน ของจำเลยกำหนดว่า หากพนักงานขาดงานจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน และโจทก์ยอมรับว่าลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายเดือนหากขาดงานจะถูกตัดค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ขาดงาน ดังนี้ การที่ในวันเกิดเหตุเวลาซึ่งเป็นเวลาทำงานโจทก์ออกจากบริษัทจำเลยโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาหลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้กลับไปทำงานจนถึงเวลา 17 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลาเลิกงานจึงเป็นการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่โจทก์โทรศัพท์ให้บุคคลอื่นลงเวลาเลิกงานแทนโจทก์ว่าโจทก์เลิกงานเวลา17.20 นาฬิกา จึงเป็นการลงเวลาเลิกงานผิดไปจากความจริงทั้งที่โจทก์ไม่ได้ทำงานประมาณ 4 ชั่วโมง การลงเวลาทำงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่โจทก์อยู่ปฏิบัติงานแล้ว ยังเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างในแต่ละชั่วโมงที่โจทก์ทำงานอีกด้วย การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงแล้วแม้จำเลยได้นำเงินค่าจ้างของโจทก์ในงวดดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ไปก่อนโดยมิได้ยับยั้งการจ่ายค่าจ้างเฉพาะจำนวนชั่วโมงที่โจทก์ขาดงานดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2011/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้าง: การปฏิบัติหน้าที่บกพร่องประมาทเลินเล่อ ไม่ถึงร้ายแรง แต่พอสมควรแก่เหตุเลิกจ้างได้
โจทก์เป็นลูกจ้างธนาคารจำเลย ขณะโจทก์ทำงานเป็นสมุหบัญชีในสาขาธนาคารจำเลยได้อนุมัติให้จ่ายเงินสดแก่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตที่มาขอเบิกเงินเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อโดยโจทก์มิได้รับประโยชน์หรือเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากการอนุมัติ ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการอนุมัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ควบคุมดูแลพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ให้ส่งใบเบิกไปให้ส่วนบัตรเครดิต สำนักงานใหญ่ในวันรุ่งขึ้นตามระเบียบของจำเลย หาใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างใดไม่ จำนวนเงินที่โจทก์อนุมัติให้จ่ายแก่ลูกค้าผู้นำบัตรเครดิตมาขอเบิกตามฟ้อง แม้จำเลยจะเรียกเก็บจากธนาคารที่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตมาขอเบิกไม่ได้ เนื่องจากล่วงเลยเวลากว่า 120 วันแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะทวงถามหรือฟ้องบังคับเอาแก่ลูกค้าผู้มาขอเบิกได้ การปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ทำงานตำแหน่งสมุห์บัญชีมีหน้าที่ดูแลการเงินในสาขาของจำเลย การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและประมาทเลินเล่อย่อมทำให้จำเลยเสียหาย แม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลูกจ้างรายเดือนลงเวลาทำงานเท็จ ไม่ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย จึงต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอน การคิดค่าจ้างเป็นรายเดือนนี้ย่อมไม่มีการนำจำนวนวันละเวลาที่มาปฏิบัติงานมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างในการมาปฏิบัติงานของโจทก์ ดังนี้ หากโจทก์จะขาดงานไปบ้างก็ถือเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่เท่านั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนลงเวลามาปฏิบัติงานกะกลางคืนตั้งแต่เวลา 19.57นาฬิกา ถึงเวลา 4 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นอันเป็นเท็จ ย่อมมีผลเป็นการขาดงานไปหนึ่งกะเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหายแก่การผลิต จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1) และ (3) การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6715/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ไม่มีความผิดทางวินัยร้ายแรง โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบ
โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงถึงขึ้นไล่ออกหรือปลดออกจากงาน จำเลยได้ตั้งกรรมการสอบสวนการกระทำของโจทก์ ทางสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังว่า โจทก์กระทำผิดวินัยที่จะต้องถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากงาน แต่มีมลทินมัวหมอง และมีพฤติการณ์อันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ หากจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ. 2517 ข้อ 34(3)และให้ถือว่าออกจากงานเพราะกระทำผิด ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อ 36 แห่งข้อบังคับฉบับเดียวกัน แต่เมื่อข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยระเบียบพนักงานเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 36 มีข้อความว่า"พนักงานผู้ใดต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34ซึ่งไม่ใช่เป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่เพราะการกระทำผิดมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์และการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค"และข้อ 34 แห่งข้อบังคับฉบับเดียวกันมีข้อความว่า"การสั่งให้พนักงานผู้ใด พ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยการให้ออกให้พิจารณาโดยเหตุดังนี้"(3) มีข้อความว่า"พนักงานผู้นั้นต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและการสอบสวนไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่าได้กระทำผิดที่จะถูกไล่ออกหรือปลดออกแต่มีมลทินหรือมัวหมองหรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจซึ่งจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค" ดังนี้ ผลการสอบสวนที่สรุปว่าจำเลยไม่มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาที่จะต้องมีโทษถูกไล่ออกหรือปลดออกจากงานแต่มีมลทินหรือมัวหมอง หรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจฯ ซึ่งต้องด้วยข้อบังคับฉบับดังกล่าวข้อ 34(3)นั้น ซึ่งตามเนื้อหาแล้วไม่ได้เป็นการระบุว่าโจทก์กระทำผิดวินัยในข้อใด แต่เป็นเรื่องที่ตามทางสอบสวนปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนว่ามีเหตุสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยจะอาศัยข้อบังคับฉบับดังกล่าวสั่งให้โจทก์ออกจากงานได้ก็ตาม แต่จะถือว่าโจทก์ออกจากตำแหน่งหน้าที่เพราะกระทำผิดยังไม่ได้ คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยให้ถือว่าได้กระทำผิดจึงเป็นเรื่องเกินเลยไปจากที่ข้อบังคับกำหนดไว้โจทก์ยังคงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์สมทบตามข้อ 36 แห่งข้อบังคับฉบับดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5959/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงเวลาทำงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ถือเป็นการทุจริตหรือฝ่าฝืนระเบียบร้ายแรง หากนายจ้างไม่ถือเป็นสาระสำคัญ
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลูกจ้างจะต้องมาทำงานระหว่าง 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่ลูกจ้างลงเวลาทำงานไว้ว่าได้มาทำงานและเลิกงานตามเวลาดังกล่าว โดยมีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมการทำงานลงชื่อกำกับความถูกต้องในช่องหมายเหตุทุกวัน แสดงว่านายจ้างไม่ได้ถือว่าการลงเวลามาทำงานและเลิกงานเป็นสาระสำคัญ แม้จะลงเวลาไม่ตรงกับความเป็นจริงผู้ควบคุมการทำงานลูกจ้างก็ลงชื่อกำกับความถูกต้องให้ ไม่ปรากฏว่า ลูกจ้างถูกหักค่าจ้างจากการมาทำงานสายและเลิกงานก่อนเวลา จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรง และการกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5959/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงเวลาทำงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ถือเป็นการทุจริตหรือฝ่าฝืนระเบียบร้ายแรง หากนายจ้างไม่ถือเป็นสาระสำคัญและไม่หักค่าจ้าง
การพิจารณาว่าการกระทำของลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่คู่กรณีปฏิบัติต่อกันเป็นเรื่อง ๆ ไป โจทก์ต้องมาทำงานระหว่างเวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา การที่โจทก์ลงเวลาทำงานว่าโจทก์มาทำงานและเลิกงานตามเวลาโดยมีนายท่ารถยนต์โดยสารที่โจทก์ทำงานอยู่นั้นลงชื่อกำกับความถูกต้องทุกวันแสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือว่าการลงเวลาทำงานและเลิกงานเป็นสาระสำคัญทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกหักค่าจ้างจากการที่มาทำงานสายและเลิกงานก่อนเวลา จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงและไม่ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: คำด่าที่ไม่ร้ายแรงและการจ่ายค่าชดเชย
ถ้อยคำที่โจทก์ด่านางวันทนีย์ว่า "อีหัวล้าน" เป็นเพียงคำไม่สุภาพ ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง การที่จำเลยระบุในคำสั่งเลิกจ้างว่า โจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทอย่างร้ายแรงและกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย จำเลยจึงยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ การที่โจทก์กล่าวเพียงคำว่า "อีหัวล้าน" เท่านั้น มิได้กล่าววาจาหรือแสดงกริยาอื่นใดอีก เพียงถ้อยคำซึ่งกล่าวด้วยอารมณ์ผิดหวังและไม่พอใจจากการที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์