คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทวีวัฒน์ แดงทองดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 334 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกโฉนดที่ดินในเขตหวงห้าม: ศาลเพิกถอนคำสั่งไม่ออกโฉนด หากราษฎรครอบครองก่อนการหวงห้าม
บ. ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2468 โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อจาก บ. และทายาท บ. แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดิน ฯ พ.ศ. 2481 แต่เป็นที่ดินซึ่งราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ก่อนการหวงห้ามในปี 2481 จึงไม่ต้องห้ามที่จะออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หมวด 3 ข้อ 14 (4) คำสั่งของจำเลยที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องคดีเพื่อมุ่งประสงค์จะขอให้ใช้อำนาจศาลบังคับให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเองที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสองเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
การที่ศาลล่างทั้งสองบังคับให้จำเลยดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น ไม่อาจทำได้เพราะไม่ใช่กรณีที่ศาลบังคับจำเลยให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ จำเลยใช้อาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหาย ศาลยืนโทษจำคุก
ผู้เสียหายตั้งใจจะหาเรื่องจำเลย เนื่องจากมีสาเหตุทะเลาะวิวาทกันมาก่อน ถือได้ว่าการกระทำของผู้เสียหายเป็นอันตรายต่อจำเลย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดพอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันตนเองได้ แต่การที่ผู้เสียหายเพียงแค่ใช้อาวุธมีดดาบปัดอาวุธปืนของจำเลยไปมาและท้าให้จำเลยยิงโดยมิได้เงื้ออาวุธมีดดาบขึ้นในลักษณะจะฟันทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหายถูกบริเวณไหปลาร้าขวาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกายจึงไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แต่เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา 69

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำอนาจารและหน่วงเหนี่ยวเป็นกรรมเดียว โทษหนักสุดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 2 กับพวกฉุดผู้เสียหายขึ้นไปบนรถแล้วระหว่างทางมีการกระทำอนาจารผู้เสียหายในวันเดียวกันนั้น เป็นการกระทำความผิดต่อตัวผู้เสียหายต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ปัญหาเรื่องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกขึ้นว่าในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากเด็กเพื่ออนาจาร, กระทำอนาจาร, หน่วงเหนี่ยว, และการลงโทษกรรมเดียวผิดหลายบท
จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายอายุ 13 ปีเศษขึ้นรถแล้วจำเลยที่ 2 พูดกับพวกของจำเลยว่าจะนำไปขายซ่อง ระหว่างอยู่บนรถจำเลยที่ 1 ใช้มือจับหน้าอก จำเลยที่ 3 ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายส่วนจำเลยที่ 2 ใช้มือขวาจับพวงมาลัยรถและมือซ้ายลูบที่ขาของผู้เสียหายไปตลอดทาง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนากระทำอนาจารผู้เสียหายมาแต่ต้น และเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน ถือได้ว่าความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารสำเร็จนับแต่จำเลยที่ 2 เริ่มพรากผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม
จำเลยที่ 2 กับพวกฉุดผู้เสียหายขึ้นไปบนรถระหว่างทางมีการกระทำอนาจารผู้เสียหายในวันเดียวกัน ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอนเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญและโดยการใช้กำลังประทุษร้ายกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดคนละกรรมจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผู้มิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ระบุวรรค แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ระบุแต่เพียงให้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาในคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น มิได้บังคับว่าจะต้องระบุวรรคใดด้วย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดในวรรคใดก็พิพากษาว่ากระทำความผิดในวรรคนั้นได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9407/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับอุทธรณ์: บทบาทหน้าที่ศาลชั้นต้นและการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ซึ่งกรณีนี้ ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นนี้ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งโดยไม่ชักช้า โดยศาลชั้นต้นไม่มีหน้าที่ จะตรวจสั่งไม่รับคำร้องเช่นว่านั้นเหมือนอย่างชั้นสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเสียเองย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เสีย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียทีเดียวโดยไม่ต้อง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์ จึงไม่อาจรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9407/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับอุทธรณ์: หน้าที่ของศาลชั้นต้นในการส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์
กรณีที่คู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งโดยไม่ชักช้า โดยศาลชั้นต้นไม่มีหน้าที่จะตรวจสั่งไม่รับคำร้องเช่นว่านั้นเหมือนอย่างชั้นสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 232 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 234 เสียเอง โดยไม่ได้ส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาสั่งจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงเงื่อนไขกฎหมายเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ครอบครองที่ดินประมาณ 700 ไร่ เมื่อทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยกำหนดให้ผู้ครอบครองขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ โจทก์ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อโจทก์ ภริยาโจทก์และบุตรโจทก์อีก 6 คน แล้ว ยังเหลืออีกประมาณ 100 ไร่ โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวในชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละแปลง โดยตกลงว่า จะโอนคืนแก่โจทก์ในภายหลัง ดังนี้ ที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นที่ดินส่วนที่โจทก์ไม่อาจขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎหมายการที่โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขกฎหมาย ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
ทางราชการได้ออกหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งตำบล โดยกำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดินขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ ไม่เกินคนละ 50 ไร่ โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อโจทก์ ภริยาโจทก์ และบุตรโจทก์ที่บรรลุนิติภาวะอีก 6 คน แล้ว ยังเหลือที่ดินที่พิพาทอีกประมาณ 100 ไร่ ซึ่งโจทก์ไม่อาจขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อโจทก์ได้ โจทก์จึงสมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แทนโจทก์ โดยตกลงจะโอนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ในภายหลัง ดังนี้ เป็นการเลี่ยงเงื่อนไขของกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในที่ดิน อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนชื่อตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเลิกบริษัทกับบุคคลภายนอก: ผลบังคับใช้เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท
บันทึกตกลงเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน หนี้สินและภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายหนึ่งกับ ย. อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งปันทรัพย์สินและชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังเป็นนิติบุคคล ข้อตกลงในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินจึงยังไม่อาจมีผลบังคับได้ บันทึกตกลงเลิกบริษัทจึงไม่อาจถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์จะอาศัยข้อตกลงในบันทึกดังกล่าวบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของบันทึกเลิกบริษัท: ข้อตกลงจัดการหนี้สินยังไม่ผูกพันจนกว่าจะจดทะเบียนเลิกบริษัท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับ ย. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงกันเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน และภาระความรับผิดต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายหนึ่ง กับ ย. ฝ่ายหนึ่ง โดยระบุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับภาระในการชำระหนี้การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัว บันทึกดังกล่าวจึงถือเป็นข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย เพื่อประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งปันทรัพย์สินและชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นนิติบุคคล ข้อตกลงในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินตามบันทึกจึงยังไม่อาจมีผลบังคับได้ และบันทึกเลิกบริษัทดังกล่าวไม่ถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ มาตรา 374 โจทก์จึงไม่อาจอาศัยข้อตกลงในบันทึกเลิกบริษัทนั้นบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้
of 34