คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธนะพัฒน์ แจ่มจันทร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5393/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและอำนาจพิเศษ: การนับระยะเวลาการยื่นคำร้องและการสันนิษฐานสถานภาพบริวาร
ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3) นั้น ไม่ใช่เอกสารที่จะต้องส่งให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 67 และไม่ใช่บรรดาคำฟ้อง หมายเรียก และหมายอื่น ๆ คำสั่งคำบังคับของศาลตามมาตรา 70 ที่จะต้องส่งให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้น กำหนดที่ให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วันนับแต่วันปิดประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเริ่มนับแต่วันที่มีการปิดประกาศโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 15 วัน ไปเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3) มิได้บัญญัติบังคับไว้เด็ดขาดว่าถ้าผู้ร้องไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้ว ผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียว เพราะระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ล่วงเลยกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศแล้ว ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษได้ ดังนั้น แม้ว่าบ้านและที่ดินจะเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยก็ตามแต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยบ้านและที่ดินยังเป็นของโจทก์อยู่ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นสามีของจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย ไม่อาจร้องขอให้ยกคำขอบังคับคดีของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4133/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัยไม่สิ้นผลแม้โอนสิทธิเช่าซื้อรถยนต์, การฟ้องต้องอาศัยเหตุตามที่กล่าวอ้าง
กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ง. ผู้ให้เช่าซื้อ บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ การที่จำเลยที่ 1 เพียงโอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แก่ ส.กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังคงเป็นของบริษัทง. ผู้ให้เช่าซื้อ กรณีมิใช่เป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้บุคคลอื่น กรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่สิ้นผลบังคับ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 ส.ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยส. เป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ส. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ และ ส. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของ ส. และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยแต่คำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ ส. ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย คำฟ้องของโจทก์จึงอ้างเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดด้วยเท่านั้น ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง