พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สำคัญผิดเจตนา: การไถดินในพื้นที่ครอบครองตามปกติ ไม่เป็นความผิดป่าสงวน
บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติชื่อป่าขุนซ่องซึ่งการกำหนดเขตป่าสงวนดังกล่าวได้ออกเป็นกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งได้ปิดประกาศให้ ประชาชนทั่วไปทราบแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณนี้มีราษฎรเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป โดยทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังและไร่ต้นยูคาลิปตัส ซึ่งทางกรมป่าไม้และ ฝ่ายปกครองอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่แล้วได้ทำ ประโยชน์ต่อไปเป็นแต่ไม่ให้บุกรุกป่าเพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันจะได้รับหนังสือสิทธิทำกิน บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ผ่านการทำประโยชน์มาแล้ว สภาพทั่วไปมีแต่กิ่งไม้ ตอไม้จะมีต้นไม้ขึ้นบ้างเป็นต้นเล็ก ๆ แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็น ที่ดินที่ได้รับการผ่อนผันให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ได้ จำเลยที่ 1 เป็นคนอยู่นอกพื้นที่ห่างไกลจากเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณ ที่เกิดเหตุมีอาชีพรับจ้างขับรถ แบคโฮ ขุดสระน้ำและไถดิน เมื่อ จำเลยที่ 3 ว่าจ้างมาขุดสระน้ำในไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 ทั้งบริเวณใกล้เคียงก็ล้วนเป็นที่ดินทำไร่มีผู้ครอบครอง หลังจากขุด สระน้ำให้จำเลยที่ 3 เสร็จแล้วก็ถูกว่าจ้างให้เข้าไปไถในบริเวณ ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่ดินไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 อีก ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าที่เกิดเหตุ เป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่จะนำรถขุดเข้าไปไถได้เช่นที่ จำเลยที่ 3 ให้ขุดสระน้ำในไร่อ้อยของจำเลยที่ 3 ซึ่งในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ให้การยืนยันว่ามีผู้ว่าจ้าง ให้เข้าไปไถดินในบริเวณที่เกิดเหตุ ทำให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำไปโดยสำคัญผิดเข้าใจว่าสามารถที่จะเข้าไปไถที่บริเวณที่เกิดเหตุได้ เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4389/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม กรณีโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วในคดีบุกรุกป่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปีแต่ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท แม้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจะสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าก็มิใช่โทษที่ลงแก่จำเลย แต่เป็นการสั่งไปตามที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 72 ตรีให้อำนาจไว้ คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินจำนวน 19 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา แต่เป็นที่ดินมี ส.ค.1มาก่อนแล้วร่วม 3 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 16 ไร่ 20 ตารางวา จำเลยไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินหรือผู้มีสิทธิคนเดิมมาแสดง จึงเป็นที่ป่าตามความหมายในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(1) เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินอันเป็นที่ป่า จำเลยจึงมีความผิดฐานเข้ายึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54,72 ตรี การที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ทั้งหมดมีผู้อื่นครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วและเป็นที่ดินที่มีส.ค. 1 แล้วทั้งหมด จำเลยเพียงแต่ซื้อมาจากเจ้าของเดิมและสืบสิทธิครอบครองต่อ ไม่ใช่เป็นการเข้าครอบครองที่ป่าเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 219