คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 474

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ชำรุด ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 190/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร" และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนด ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถกลับไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับมาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความชำรุดบกพร่อง: การสะดุดหยุดและเริ่มนับใหม่เมื่อมีการแก้ไขซ่อมแซมและแจ้งยุติการแก้ไข
เมื่อโจทก์ที่ 2 พบบ้านชำรุดบกพร่องในเดือนมกราคม 2552 จำเลยเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 แจ้งให้จำเลยหยุดทำการแก้ไขชำรุดบกพร่องโดยโจทก์ที่ 2 จะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่เวลานั้นคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2554 เกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องผิดสัญญาซื้อขายกระสุนปืน และความรับผิดของผู้ออกหนังสือค้ำประกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า กระสุนปืนที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ผิดขนาดไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุให้อาวุธปืนโจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับฐานผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่ให้รับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ไม่
การฟ้องคดีเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17186/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีทุนทรัพย์น้อยกว่าสองแสนบาท และการคำนวณอายุความค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง
จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 4.2.2 ระบุให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ให้แก่โจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์มารับโอนในวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งล่วงเลยเวลาตามสัญญา แต่โจทก์ยินยอมรับโอนโดยไม่อิดเอื้อน แสดงว่า โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า วันที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจากจำเลย โจทก์ได้แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยโดยมีพนักงานของจำเลยรับทราบไว้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่อิดเอื้อน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 การฟ้องให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขาย มิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง โจทก์มีหนังสือแจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่อง แต่ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ข้อ 11.2 ผู้จะขายต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้จะซื้อได้แจ้งให้ผู้จะขายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หากผู้จะขายเพิกเฉยหรือดำเนินการโดยชักช้า ผู้จะซื้อมีสิทธิแก้ไขเอง ผู้จะขายต้องรับผิดชอบในความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อจะได้ชำระไป และตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป หลังจากโจทก์แจ้งความชำรุดบกพร่องให้จำเลยทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขแล้วโจทก์ต้องให้เวลาจำเลยเริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วหากจำเลยยังไม่ดำเนินการแก้ไข โจทก์จึงจะใช้สิทธิเรียกร้องได้ วันที่ครบ 60 วัน นับแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบ คือ วันที่ 25 พฤษภาคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืน กรณีหักกลบหนี้ เป็นอายุความ 10 ปี
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยซึ่งมีเงื่อนไขในการชำระค่าสินค้าโดยให้โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยภายใน 60 วัน นับแต่วันรับสินค้าในแต่ละครั้ง และโจทก์มีสิทธิตรวจนับและรับรองสินค้าตลอดจนคุณภาพและสามารถคืนสินค้าได้ในกรณีที่สินค้าหมดอายุ ชำรุด หรือโจทก์จัดรายการส่งเสริมการขาย เมื่อรายการนั้นจบลงและยังมีสินค้าของจำเลยเหลืออยู่จำเลยมีหน้าที่จะต้องรับสินค้านั้นคืน โดยโจทก์จะหักกลบเงินค่าคืนสินค้ากับเงินที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าให้จำเลยในงวดต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนเงินค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยเมื่อหักกลบกับเงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยในงวดต่อไป หาใช่เรื่องฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไม่ จึงจะนำอายุความ 1 ปี กรณีข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 มาใช้บังคับหาได้ไม่ และมิใช่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาเงินค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยจึงจะนำอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) มาใช้บังคับหาได้ไม่อีกเช่นกัน การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยเพื่อชำระราคาค่าสินค้าเมื่อหักกลบกับเงินที่โจทก์จะต้องชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยในงวดต่อไปคืน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13839/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เคลือบคลุม, อายุความรับผิดสินค้าชำรุด, การยอมรับสภาพหนี้, การแก้ไขสินค้า
จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งให้เข้าใจได้แล้วว่า อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากโจทก์ซึ่งมีความบกพร่องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขคือ อุปกรณ์ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ตรวจจับควัน และอุปกรณ์วาล์วผีเสื้อปิดเปิดน้ำ ซึ่งโจทก์ก็ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สินค้าอุปกรณ์ดังกล่าวที่ส่งให้จำเลยมิได้ชำรุดบกพร่อง แต่สามารถใช้การได้ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดจากระบบติดตั้งของจำเลยเอง แสดงว่าโจทก์เข้าใจข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้งเป็นอย่างดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่จำเลยต้องว่าจ้างผู้ชำนาญรายใดมาดำเนินการแก้ไขเป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
ภายหลังจากจำเลยได้รับแจ้งจากบริษัท ซ. ให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 เอกสารหมาย ล.9 และจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงค่าใช้จ่ายนั้นแล้ว โจทก์ได้มาดำเนินการแก้ไขในระบบให้จำเลย แต่ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายแล้วว่าโจทก์ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลงนับแต่เวลาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แม้จำเลยจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นวันเวลาใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่บริษัท ซ. เจ้าของสินค้ามีหนังสือแจ้งจำเลยถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไข เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 และแม้จะนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง ก็ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 เช่นกัน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 474

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีรับประกันคุณภาพสินค้า: สัญญาพิเศษมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ซื้อสีจากจำเลยโดยจำเลยรับรองคุณภาพของสีไว้เป็นพิเศษเป็นเวลา 1 ปี จึงมิใช่การซื้อขายธรรมดา ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายที่เป็นค่าสีเสื่อมคุณภาพและค่าส่วนต่างที่โจทก์ต้องซื้อสีมาใช้ทดแทนสีที่เสื่อมคุณภาพตามข้อตกลงรับประกันสินค้าตามสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินซึ่งจะทำให้คดีโจทก์มีอายุความ 1 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 474 แต่เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงพิเศษแห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้นซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกร้องค่าเสียหายจากสินค้าชำรุดที่มีการรับประกันพิเศษ: ไม่ผูกติดกับอายุความทั่วไป
การซื้อขายสีมีการรับรองคุณภาพของสีไว้เป็นพิเศษ โดยมีอายุการประกัน 1 ปี อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการซื้อขาย เมื่อการซื้อขายดังกล่าวมีการรับรองคุณภาพสินค้าไว้เป็นพิเศษจึงมิใช่การซื้อขายธรรมดา ทั้งโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายที่เป็นค่าสีเสื่อมคุณภาพและค่าส่วนต่างที่โจทก์ต้องซื้อสีมาใช้ทดแทนสีที่เสื่อมคุณภาพตามข้อตกลงรับประกันสินค้าตามสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินธรรมดาซึ่งจะทำให้คดีโจทก์มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 อีกทั้งไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้รับสภาพความรับผิดแต่ประการใดแต่เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงพิเศษแห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญา: 10 ปี มิใช่ 1 ปี
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพราะจำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายความชำรุดบกพร่องของห้องน้ำว่าส้วมชักโครกใช้การไม่ได้ ใช้ห้องน้ำแล้วมีน้ำขังไม่สามารถระบายน้ำลงท่อระบายน้ำได้ก็เป็นการฟ้องเรื่องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่ส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาซึ่งจะต้องบังคับ อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 แต่เป็นกรณีต้องบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายรถยนต์ดัดแปลง ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตเพื่อให้ผู้ซื้อจดทะเบียนได้
จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพที่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และมีที่นั่ง 7 ที่นั่ง ซึ่งเป็นรถยนต์ดัดแปลงอันจะต้องเสียภาษีสรรสามิตด้วย โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการดัดแปลง จึงมีหน้าที่เสียภาษีตามมูลค่าจากการดัดแปลงตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 144 เบญจ และต้องชำระภาษีดังกล่าวเมื่อการดัดแปลงสิ้นสุดลงตามมาตรา 144 จัตวา แม้หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ระบุให้เป็นสิทธิของผู้ซื้อที่จะดำเนินการใด ๆ ในการยื่นคำร้องขอโอนทะเบียนและเปลี่ยนแปลงชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนของทางราชการเอง ก็มิได้มีข้อตกลงว่าโจทก์จะเป็นผู้ชำระภาษีสรรพสามิตเอง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระภาษีดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของจำเลย ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถเป็นชื่อโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์มาเป็นชื่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์สามารถใช้รถยนต์ได้ตามวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาซื้อขาย มิใช่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเพราะความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี
of 4