คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินบำเหน็จไม่ใช่สิทธิทางกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงสภาพการจ้าง การจ่ายเงินบำเหน็จหรือไม่อย่างไรเป็นสิทธิของนายจ้าง
เงินบำเหน็จมิใช่เงินที่นายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การจะจ่ายเงินบำเหน็จหรือไม่อย่างไรเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะตกลงกันไว้อย่างไรก็ได้ ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จกำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับเงินชดเชย ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินชดเชยอย่างเดียว ดังนี้เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จ มิใช่เป็นการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชย สิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีอยู่อย่างไรก็เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ข้อกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จ ไม่กระทบกระเทือนถึงคนอื่นที่มิได้ตกลงด้วย จึงมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดหยุดงานโดยชอบของลูกจ้างสมาชิกสหภาพ: การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
เมื่อสหภาพแรงงานนัดหยุดงานโดยชอบแล้ว การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่มิได้ร่วมหยุดงานในตอนแรกออกมาร่วมนัดหยุดงานในภายหลัง ย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ และไม่จำต้องแจ้งความประสงค์ขอนัดหยุดงานตามนัยแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 34 วรรคท้ายอีก
กรณีดังกล่าวนั้นการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งสมทบนัดหยุดงานในภายหลังโดยอ้างเหตุว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงานจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 121.