คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิบูลย์ มีอาสา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 354 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีซ้ำสอง: คดีก่อนเป็นการฟ้องร้องที่ไม่สุจริต สิทธิฟ้องคดีหลังยังคงมี
หลักการของ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริงหากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเสมอยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5175/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินโดยไม่ทราบหนี้สิน: ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ศาลแพ่ง แต่เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติและผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นคู่ความด้วยเหตุนี้เอง การที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4995/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเล่นแชร์ผิดกฎหมายทำให้สิทธิเรียกร้องของนายวงแชร์เป็นโมฆะ สัญญาเป็นโมฆะ
การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์มีจำเลยและบุคคลอื่นเป็นสมาชิกร่วมเล่นแชร์รวม 20 คน โดยมีทุนกองกลางต่อ 1 งวด รวมกันเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ มาตรา 6(3) ประกอบด้วยกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การเล่นแชร์ฯ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเพียงมาตรา 7 เท่านั้น ที่บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์แต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์กระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือเรียกร้องเอากับสมาชิกวงแชร์แต่อย่างใด การเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไป โจทก์จะนำมูลหนี้ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดอำนาจศาล: นายประกันอาชีพหลอกลวงศาลด้วยเอกสารเท็จเพื่อผลประโยชน์
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นนายประกันอาชีพเห็นอยู่แล้วว่าหนังสือมอบอำนาจที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหายังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ลงไว้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ย่อมจะทราบได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะมอบอำนาจให้ใครกระทำการใดแทนนั้น ย่อมต้องมีการระบุข้อความที่มอบอำนาจไว้อย่างแน่นอนและชัดเจน แต่ได้มีการนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาให้ ส. กรอกรายการในขณะนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ยืนอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะรู้ว่าเกิดมีเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้น ควรที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กลับส่งเสริมให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ให้นำเอาเอกสารที่ไม่ชอบเหล่านั้นไปยื่นต่อศาล โดยแนะนำด้วยว่าให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่คนใดจึงจะสะดวกและรวดเร็ว พร้อมกับยอมรับเป็นผู้รับส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลอีก พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำการหลอกลวงศาลให้มีคำสั่งโดยผิดหลงว่าหลักฐานที่นำยื่นเข้ามาเป็นเอกสารที่ถูกต้อง จนมีคำสั่งอนุญาตตามความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กับพวก อันเป็นทางได้มาซึ่งผลประโยชน์ 10 เปอร์เซ็นต์ของหลักประกันที่ศาลตีราคา จึงถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) และมาตรา 33
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310-4311/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำซัดทอดผู้ร่วมกระทำผิดมีน้ำหนักรับฟังได้ แม้ผู้ให้การจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยกัน พยานหลักฐานเชื่อมโยงกันสนับสนุน
แม้คดีนี้ จ. และ ผ. พยานโจทก์จะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสอง คำเบิกความของ จ. และคำให้การในชั้นสอบสวนของ ผ. จึงถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันและถูกพิพากษาลงโทษไปแล้วในความผิดฐานเดียวกันกับจำเลยทั้งสอง ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกันลักทรัพย์ด้วย คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องบอกปัดความผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดแต่เฉพาะจำเลยทั้งสองเท่านั้น หากแต่เป็นการเบกความและให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยทั้งสอง ทั้งไม่มีเหตุจูงใจที่จะเบิกความและให้การเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการกระทำของตนไม่ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน จ. พยายามเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่คนร้ายรายนี้เพื่อช่วยเหลือจำเลยทั้งสอง ดังนั้นคำเบิกความและคำให้การของ จ. และ ผ. จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่จะรับฟังไม่ได้เสียเลยเพียงแต่มีน้ำหนักน้อย และจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของ จ. และ ผ. สอดคล้องกับคำเบิกความชั้นพิจารณาและสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำให้การและคำเบิกความของ ว. พยานโจทก์อีกปาก ซึ่งนับว่าเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีใกล้ชิดในขณะเกิดเหตุ ฟังประกอบพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจกำหนดประเด็นใหม่ได้ การครอบครองปรปักษ์ต้องวินิจฉัยก่อน
คู่ความแถลงรับกันว่า ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่บางส่วนอยู่ในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยได้ครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงข้อเดียวว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่ เท่ากับศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครอง ปรปักษ์แล้ว ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่คู่ความแถลงรับกันดังกล่าวก็มิใช่ว่าจำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เสมอไป ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียก่อนที่จะไปสู่ประเด็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้าน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาก็ไม่จำต้องถือตาม ทั้งมีอำนาจกำหนดประเด็นใหม่ให้ถูกต้องและวินิจฉัยไปตามนั้นได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ก. สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลทำประโยชน์ได้ แม้โจทก์อ้างสิทธิครอบครองก่อน
โจทก์ฟ้องว่า สำนักอำนวยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ให้จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นการไม่ชอบ ขอให้บังคับจำเลยให้ไปดำเนินการยกเลิกสิทธิที่มีอยู่ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) โจทก์ไม่ได้เรียกเอาที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์เสียค่าขึ้นศาล มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงให้คืนส่วนที่เกินมาแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้โดยเสน่หา vs. การยืมเอกสารเพื่อจำนอง ศาลฎีกาเน้นการพิจารณาตามข้อเท็จจริงและประเด็นที่ฟ้อง
โจทก์ตั้งประเด็นมาในคำฟ้องเป็นเรื่องให้โดยเสน่หา และขอให้ถอนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณากลับได้ความว่าโจทก์ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรยืมเอกสาร น.ส.3 ก. พิพาทไปใช้ในการจำนอง เมื่อชำระหนี้จำนองแล้วให้โอน น.ส.3 ก. นั้นคืนแก่โจทก์ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องให้โดยเสน่หาตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 521 โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินแปลงพิพาท โจทก์จะอ้างว่าจำเลยประพฤติเนรคุณแล้วมาขอถอนการให้ไม่ได้ ได้แต่จะฟ้องเรียกคืนทรัพย์ด้วยเหตุอื่นที่ตรงกับข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ตั้งประเด็นมาในคำฟ้องเป็นเรื่องถอนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ ศาลฎีกาย่อมไม่อาจพิพากษาให้จำเลยโอน น.ส.3 ก. ของที่ดินแปลงพิพาทคืนแก่โจทก์เพราะเหตุอื่นได้เนื่องจากเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง
ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องถึงมูลเหตุที่โจทก์ยกที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลยว่าเป็นการยกให้ที่มีเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยนำไปใช้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยกับสามีที่กู้ยืมจากธนาคารและนำสืบถึงเงื่อนไขดังกล่าว ก็เพื่อให้เห็นถึงมูลเหตุแห่งการที่โจทก์ยกที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลย มิใช่เป็นการเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญายกให้ที่ดินแต่อย่างใด
การจะพิจารณาพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำฟ้องโจทก์ได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ให้จำเลยยืมเอกสาร น.ส.3 ก. ของที่ดินแปลงพิพาทไปใช้จำนอง โดยไม่มีเจตนายกที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย กรณีไม่ใช่การให้โดยเสน่หาที่จะขอถอนเพราะเหตุประพฤติเนรคุณ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2965/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การชั้นสอบสวนใช้ประกอบคำรับสารภาพได้, แก้โทษตามกฎหมายใหม่, จำหน่ายยาเสพติด
คำให้การชั้นสอบสวนของพยานไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น คำให้การของพยานในชั้นสอบสวน ศาลย่อมนำมาฟังประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ ทั้งคดีที่โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดดังคดีที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์เพียงนำสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดก็เป็นการเพียงพอแล้ว ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีข้อความทำนองเดียวกันตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสองสำหรับคดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.18 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีโทษจำคุกต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2413/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพในคดีซ้ำ จำเลยต้องรับโทษเดิมด้วย
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1570/2544 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอศาลได้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายด้วย คำขอท้ายคำฟ้องได้ระบุมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ไว้ด้วย ชั้นพิจารณาจำเลยยื่นคำให้การรับสารภาพตลอดข้อหาและศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ดังนั้น คำให้การจำเลยที่รับสารภาพจึงย่อมหมายรวมถึงการรับว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในคำฟ้องตลอดจนรับตามบทบัญญัติที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องด้วย ฉะนั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง
of 36