คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิบูลย์ มีอาสา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 354 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่นำสืบโจทก์คดีอาญา: การพิสูจน์การครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา คดีนี้แม้จะฟังได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายก็ตาม แต่โจทก์ต้องนำสืบให้ชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและไม่มีใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะด้วย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดจำเลยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีและใช้และพาติดตัวได้ตามกฎหมายทั้งมิได้อาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นของกลาง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะได้เลย และกรณีก็ไม่อาจฟังว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมายด้วย เพราะในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดของอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด และก็ไม่ปรากฏในชั้นสอบสวนว่าจำเลยให้การปฏิเสธเกี่ยวกับข้อหาอาวุธปืนดังกล่าวอย่างไรจึงไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟังว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้และพาติดตัวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษในการคัดค้านการบังคับคดี: ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
ผู้ที่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา(3) ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ผู้ร้องที่ 1 เป็นจำเลยและลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกบังคับคดีให้ขับไล่และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลแม้จะอ้างว่ายื่นเข้ามาในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ อ. สามีซึ่งถึงแก่กรรมที่ได้ร่วมกันครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท แต่เมื่อผู้ร้องที่ 1 เป็นจำเลยในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่และมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่ ผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของจำเลย (คนเดียวกับผู้ร้องที่ 1) จึงเป็นบริวารของจำเลย กรณีไม่อาจอ้างฐานะอื่นเพื่อแสดงอำนาจพิเศษให้หลุดพ้นจากการถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษในการคัดค้านการบังคับคดี ต้องไม่ใช่ลูกหนี้หรือบริวารของลูกหนี้
ผู้ที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา (3) ได้ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกบังคับคดีให้ขับไล่จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาล แม้จะอ้างว่ายื่นเข้ามาในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ อ. สามีซึ่งถึงแก่กรรมที่ได้ร่วมกันครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท ส่วนผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นบริวารลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองร่วมและสิทธิในการคุ้มครองส่วนแบ่งที่ดิน: ผู้รับจำนองมีสิทธิยึดขายทอดตลาดที่ดินแปลงรวมทั้งหมดเมื่อลูกหนี้ผิดนัด
ผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดิน 2 แปลง โดยตกลงแบ่งการครอบครองเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจำเลยได้ส่วนแบ่งทางด้านทิศตะวันตก ส่วนผู้ร้องได้ส่วนแบ่งด้านทิศตะวันออกคนละครึ่ง อันเป็นข้อตกลงภายในระหว่างกันเองว่ามีการแบ่งแยกการครอบครองอย่างไรเท่านั้น หาได้มีการแบ่งแยกกันครอบครองอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนไม่ เมื่อจำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองต่อโจทก์ ผู้ร้องก็ทราบและให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ทั้งเมื่อมีการจดทะเบียนจำนองนอกจากผู้ร้องจะไม่ให้ปากคำใด ๆ แล้ว ยังไม่ส่งมอบเอกสารการแบ่งแยกการครอบครองที่ผู้ร้องกับจำเลยทำต่อกันแก่เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อทราบ ซึ่งนับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ร้องอย่างมาก ฉะนั้น การที่จะให้โจทก์เรียกเอกสารประกอบอื่นใดที่อาจมาบั่นทอนกรรมสิทธิ์ของหลักประกันนั้นย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์พึงกระทำ เว้นแต่ผู้ร้องจะเสาะหามาแสดงเอง กรณีต้องถือว่าผู้ร้องและจำเลยได้ร่วมกันครอบครองที่ดินทุกส่วนทั้งสองแปลงอันโจทก์มีสิทธิยึดเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กันส่วนของตนในที่ดินทั้งสองแปลงออกก่อนขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมสิ้นผลจากมิได้ใช้สิบปี แม้ที่ดินว่างเปล่าก็เพียงพอแสดงเจตนาไม่ใช้สิทธิ
เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 15267 ซึ่งมีสิทธิภารจำยอมเกี่ยวกับทางเดินบางส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 225609 และ 15269 ถูกปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่า ไม่มีการหาผลประโยชน์ใด ๆ บนที่ดิน ความจำเป็นที่จะต้องเดินผ่านทางภารจำยอมพิพาทไปสู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15267 จึงไม่มีตามไปด้วย เมื่อทางภารจำยอมไม่เคยใช้มาเกิน 10 ปี แล้วภารจำยอมจึงสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399
การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภารจำยอม เป็นการแก้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่าภารจำยอมได้สิ้นผลไปแล้ว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ดังกล่าวจึงชอบแล้ว เพราะการวินิจฉัยดังกล่าวย่อมมีผลว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภารจำยอมที่กล่าวหาได้ศาลอุทธรณ์จึงต้องยกคำขอในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมสิ้นผลเพราะไม่ได้ใช้สิบปี สภาพที่ดินว่างเปล่าไม่มีการใช้ประโยชน์
ที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นสามยทรัพย์มีภารจำยอมเกี่ยวกับทางเดินในที่ดินของจำเลยถูกปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่าไม่มีการหาผลประโยชน์บนที่ดิน ความจำเป็นที่จะต้องเดินผ่านทางภารจำยอมไปสู่ที่ดินของโจทก์จึงไม่มีตามไปด้วย เมื่อโจทก์มิได้ใช้ทางภารจำยอม 10 ปี แล้ว ภารจำยอมจึงสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการฟ้องคดีใหม่หลังศาลชั้นต้นยกคำขอไม่สมฟ้อง และการไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์
ประเด็นที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองนำสืบไม่สมฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกคำขอส่วนนี้เสียทั้งหมด เพราะสามารถที่จะวินิจฉัยในคดีนี้ได้อยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองฟ้องใหม่ในประเด็นนี้อีกจึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่เลือกที่จะฟ้องใหม่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ให้สิทธิในการฟ้องคดีใหม่ โจทก์ทั้งสองจะขอให้ศาลฎีกากลับให้สิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นการไม่ชอบแก่โจทก์ทั้งสองหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมา ค่าจ้างเพิ่มเติม การส่งมอบงานล่าช้า และสิทธิในการฟ้องคดีใหม่
หนังสือสัญญาจ้างมีข้อความว่า "เมื่อผู้รับจ้างได้ทำการแล้วเสร็จตามงวดงานผู้รับจ้างจะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าจ้างให้ทราบแล้วให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนไปตรวจรับงานในงวดนั้น ๆ ภายในกำหนดเวลา 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้รับจ้างหากผู้ว่าจ้างไม่ทำการตรวจรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหรือไม่ยอมรับงานโดยไม่แจ้งให้ผู้รับจ้างทราบเกินกว่ากำหนด ให้ถือว่าผู้ว่าจ้างได้ตกลงรับมอบงานไว้ครบถ้วนถูกต้องตามงวดงานนั้น ๆ ว่าเรียบร้อยแล้วทุกประการ" การที่โจทก์จะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบเพื่อตรวจรับงานตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จะต้องทำการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนด้วย มิใช่ว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ตรวจรับงานโดยที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจรับงานภายใน 5 วัน จะถือว่าตรวจรับงานไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจ้างได้
การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 8 บางส่วน โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละเท่าใด จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องบังคับตามคำขอดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ นั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองนำสืบได้ไม่สมฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกคำขอส่วนนี้เสียทั้งหมดเพราะสามารถที่จะวินิจฉัยให้คดีนี้ได้อยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองฟ้องใหม่ในประเด็นนี้อีกจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์แต่เลือกที่จะฟ้องคดีใหม่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ไม่ให้สิทธิในการฟ้องคดีใหม่ โจทก์ทั้งสองจะขอให้ศาลฎีกากลับให้สิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นการไม่ชอบหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6967/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับสัญญาเช่าซื้อ: ความแตกต่างและผลกระทบต่อการปิดอากรแสตมป์
สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ระบุว่า ห้างฯ จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันหนึ่งจากบริษัทโจทก์มีกำหนด 4 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าแต่มีสิทธิจะซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนี้ สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ที่ทำต่อกันนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งอันเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว แต่สัญญานี้หาใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ไม่ เพราะในสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที โดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าแบบลีสซิ่งเมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อนเงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) นี้มิใช่สัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6503/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด vs. สัญญาจะซื้อจะขาย: การพิจารณาจากเจตนาและข้อความในสัญญา
การวินิจฉัยว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยกระทำต่อกันเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ต้องพิจารณาถึงข้อความในสัญญาประกอบกับเจตนาของโจทก์และจำเลยในขณะทำสัญญายิ่งกว่าชื่อของสัญญาที่ทำต่อกัน แต่สัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้เป็นแบบพิมพ์ที่ให้คู่ความกรอกข้อความตามที่ต้องการเอาเองซึ่งไม่ปรากฏข้อความไว้ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกันเมื่อใด แม้จะมีการกำหนดราคาที่ดินว่าไร่ละ 19,687.50 บาท ซึ่งคำนวณตามเนื้อที่ดินแล้วเป็นเงิน68,906.25 บาทเศษ ก็ตาม แต่เมื่อเงินมัดจำที่โจทก์วางแก่จำเลยระบุจำนวน 63,000บาทแล้ว และในช่องจำนวนเงินส่วนที่ต้องชำระอีกกลับมีการขีดไว้ แสดงว่าไม่มีราคาที่ดินที่จะต้องชำระกันอีก ทั้งการที่จำเลยมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาก็ไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินในภายหน้าอีก ส่วนราคาที่ดินที่ค้างชำระอีก 5,906.25 บาท ก็แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะรับจากโจทก์แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีการตกลงกันด้วยวาจาว่าจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินในภายหน้านั้น จึงเป็นการสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่อาจรับฟังพยานบุคคลเช่นนี้ได้ หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ยังคงสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นสัญญาซื้อขายโดยโอนการครอบครองในที่ดินให้แก่กัน ซึ่งทำให้โจทก์ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดิน และเมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์ได้
of 36