คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 ม. 7 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญชาติไทยโดยการเกิด แม้บิดาเป็นต่างด้าว และใช้สัญชาติบิดาต่างประเทศ ไม่เป็นเหตุถอนสัญชาติ
การที่ผู้ร้องแสดงตนและเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นบุคคลต่างด้าว หาทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิที่จะพิสูจน์ความจริงว่าตนมีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯมาตรา 57 ไม่ จึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวโดยที่มิได้อ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยมาตัดสิทธิของผู้ร้องและยกคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติได้ ผู้ร้องเกิดในประเทศไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าว มารดาเป็นคนสัญชาติไทย ผู้ร้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตาม พ.ร.บ.สัญชาติฯ มาตรา 7(3) ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่าบิดาผู้ร้องเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน ได้รับอนุญาต หรือเข้ามา ตามที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 บัญญัติไว้ ดังนี้ผู้ร้องจึงไม่ถูกถอนสัญชาติตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และใช้สัญชาติจีน อันเป็นสัญชาติของบิดาตลอดมานั้น กรณีเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งถอนสัญชาติไทย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1204/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ต้องพิจารณาถึงสัญชาติบิดาในขณะที่บุตรเกิด แม้บิดาถูกถอนสัญชาติในภายหลัง
การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้น ประการแรกจะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นมีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีของโจทก์ ในขณะที่เกิดโจทก์เป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว แต่โจทก์มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้โจทก์จึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีที่ มารดา โจทก์เป็นคนต่างด้าว ป. บิดาโจทก์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดนครพนม จึงเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.สัญชาติที่ใช้อยู่ในขณะนั้นและโจทก์ทั้งหกเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับดังนั้นขณะที่โจทก์ทุกคนเกิดป. บิดาโจทก์ยังมีสัญชาติไทยอยู่ แม้ต่อมา ป. บิดาโจทก์จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติไทยของโจทก์ด้วย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว โจทก์จึงเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย และการโต้แย้งสิทธิในสัญชาติจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ
นาง ป. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3และนาง ป. เป็นบุตรคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นาง ป.จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337เมื่อนาง ป. คนสัญชาติไทยอยู่กินฉันสามีภรรยากับนาย ก.คนญวนอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรส โจทก์ทั้งสามจึงมีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามเกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีย่อมได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) บุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยโดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้น จะต้องปรากฏว่าคนต่างด้าวนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อนาง ป.มารดาของโจทก์ทั้งสามไม่ใช่คนต่างด้าว และนาย ก. ก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสาม กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อันจะเป็นผลให้โจทก์ทั้งสามถูกถอนสัญชาติไทยโจทก์ทั้งสามจึงยังคงมีสัญชาติไทย.
เมื่อ พ.ศ. 2522 มารดาโจทก์ทั้งสามได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพแต่เจ้าหน้าที่ไม่จัดการให้โดยโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคนต่างด้าวเช่นนี้ แม้จำเลยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากิจการคนญวนอพยพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 ตลอดมาถึงวันฟ้องก็ตาม ตราบใดที่โจทก์ทั้งสามมีสัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพได้ให้จำเลยถอนชื่อออกแต่จำเลยไม่จัดการให้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามถูกโต้แย้งสิทธิตลอดมา จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการคนญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี.
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243(1) ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่นั้น อยู่ในดุลพินิจว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน.