คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1288

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: การพิสูจน์ความสามารถในการชำระหนี้ และความรับผิดของหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด
หนี้ตามเช็คพิพาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีรวมเข้าด้วย แต่หนี้ดังกล่าวเกิดจากมูลหนี้เดิมที่ห้างจำเลยที่ 1 ซื้ออาหารสัตว์ไปจากโจทก์แล้วค้างชำระ และห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในเงินที่ค้างชำระนั้นรวมเข้าไปด้วย กรณีมิใช่เป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 โจทก์นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้ล้มละลายได้
ห้างจำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารฯ โดยระบุผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินไว้คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ลงลายมือชื่อร่วมกัน 2 คน พร้อมประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทพร้อมประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ด้วย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดได้นั้น จะต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ มาตรา 9 หรือมาตรา 10 หากไม่ได้ความจริงตามมาตราดังกล่าว หรือจำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้องเมื่อเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.16 เป็นพยานเอกสารที่อาจแสดงได้ว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเมื่อศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานนั้นตามมาตรา 87 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านั้นได้ แม้จะมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้อีกฝ่ายหนึ่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม
เมื่อพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่นำสืบมามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังอยู่ในฐานะที่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด แม้จำเลยที่ 4 จะไม่มีทรัพย์สินเลย แต่เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กรณีก็มีเหตุไม่ควรให้จำเลยที่ 4 ล้มละลาย