พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3978/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหวงห้ามที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การดำเนินการตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และการพิจารณาการหวงห้ามโดยไม่ต้องมีพระราชกฤษฎีกา
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นตามธรรมดารัฐยอมใช้เพื่อประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์รวมกันได้ ส่วนวิธีการที่จะหวงห้ามนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามกาลสมัย เพิ่งมาบัญญัติเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินพ.ศ. 2478 ซึ่งได้หวงห้ามโดยวิธีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ต่อมาพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา4(6) ดังนั้นเมื่อการสงวนหวงห้ามที่ดินพิพาทเป็นการสงวนหรือหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 ตรี ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515โดยเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว การหวงห้ามจึงไม่จำต้องดำเนินการโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 304/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดจากการออกโฉนดที่ดินทับเขตที่หลวง เจ้าพนักงานประมาทเลินเล่อ ผู้บังคับบัญชารับผิดร่วม
ที่ดินพิพาทได้มีการจัดทำระวางแผนที่ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2454ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จะมีพระบรมราชโองการกำหนดเขตที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในปี พ.ศ. 2467 พระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตที่ดินทั้งสี่ด้านไว้โดยละเอียด จึงมีผลเป็นกฎหมายที่บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยทั้งสองจะต้องรับรู้ว่าที่ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นที่หลวง แม้ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินพิพาท ยังมิได้มีการลงแนวเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในระวางแผนที่ เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษายังมิได้มีคำขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 26(พ.ศ. 2516) แต่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเพิ่งจะออกมาใช้บังคับในภายหลัง จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเพราะเหตุดังกล่าวหาได้ไม่ นอกจากนี้ขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสามเมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่ดินพิพาทอยู่ในระหว่างรังวัดสอบเขตตามคำขอของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องทราบดีและควรระงับการโอนไว้ก่อน แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองออกโฉนดที่ดินพิพาททับเขตที่ดินพระราชนิเวศน์มฤคทายวันและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม เป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม เนื่องจากทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3124/2532
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินพิพาท: การจัดรูปที่ดินไม่ตัดสิทธิเจ้าของเดิม ต้องพิสูจน์สิทธิก่อน
โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งห้าซึ่งมีอำนาจหน้าที่ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์เป็นการมิชอบ ขอให้เพิกถอนจำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประเภทเลี้ยงสัตว์พาหนะซึ่งทางราชการได้ขึ้นทะเบียนไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆในที่พิพาท คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งจำเป็นจะต้องสืบพยานเพื่อฟังข้อเท็จจริงต่อไป การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่พิพาทอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินมีผลเพียงให้เจ้าของที่ดินหรือผู้มีสิทธิได้รับที่ดินต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เท่านั้น ไม่มีผลทำให้เจ้าของที่ดินหรือผู้มีสิทธิได้รับที่ดินต้องเสียสิทธิในที่ดินไปแต่อย่างใด