คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 149

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 134 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนสามัญ-การขายที่ดินเพื่อหากำไร-ภาระภาษี-ผลผูกพันสัญญา
ตามพฤติการณ์ที่โจทก์กับ อ. ตกลงร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. เมื่อถึงวันโอนโจทก์ไม่ว่างจึงให้ อ. เป็นผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายที่ดินเพียงผู้เดียว การจ่ายเงินค่าที่ดินโจทก์ร่วมจ่ายกับ อ. ตั้งแต่แรกคนละครึ่ง นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายที่ดินให้บริษัท ก. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 โจทก์เป็นผู้เสนอขายที่ดินบริเวณแขวงตลาดบางเขน (ดอนเมือง) รวม 10 โฉนด ซึ่งรวมทั้งที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับความสูงของอาคารที่จะสามารถก่อสร้างได้ ซึ่ง อ. สอบถามจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และการขอเปิดทางเข้า - ออก ผ่านที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งโจทก์ดำเนินการร่วมกับ อ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์และ อ. ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อขายและร่วมกันขายให้แก่บริษัท ก. จึงเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
การที่โจทก์และ อ. ร่วมกันจองซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นที่นาอยู่ต่ำกว่าทางรถไฟ 2.3 เมตร ไม่มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ในราคาตารางวาละ 47,000 บาท อ. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 และโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 แล้วร่วมกันขายต่อให้บริษัท ก. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 ในราคาตารางวาละ 66,000 บาท ซึ่งเป็นการขายต่อในระยะเวลาสั้นและได้กำไรจำนวนมากโดยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับ อ. มีเจตนาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การที่โจทก์กับ อ. ขายที่ดินให้แก่บริษัท ก. จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรและเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องนำรายได้จากการขายมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (8), 56, 77 (เดิม) และ 78 (เดิม)
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ระบุว่าบริษัท ก. เป็นผู้ชำระค่าภาษีจากการขายที่ดินทั้งหมดเป็นเพียงข้อตกลงกันระหว่างคู่สัญญาคือโจทก์กับพวกและบริษัท ก. มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น มิได้มีผลทำให้ความรับผิดของโจทก์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8003/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนลิขสิทธิ์เพลงคาราโอเกะโดยเด็ดขาดและการละเมิดลิขสิทธิ์จากการผลิตซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมเพลงพิพาท ทั้งคำร้องทำนองซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ในส่วนของคาราโอเกะทุกรูปแบบให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อตามข้อสัญญาลิขสิทธิ์เพลงข้อ 1 ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า "การโอนลิขสิทธิ์นี้เป็นการโอนตลอดอายุสัญญาแห่งลิขสิทธิ์ซึ่งผู้โอนลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะนำไปขายหรือจัดทำเอง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นไปจัดทำ" ฉะนั้น การที่จำเลยร่วมกับพวกอนุญาตให้นาย ช. ใช้มาสเตอร์เทปเพลงพิพาทพร้อมลิขสิทธิ์ คือ ทั้งตามคำร้อง ทำนองเพลงพิพาทที่ขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปทำการบันทึกเสียงและภาพทำเป็นคาราโอเกะได้ด้วยดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 2
การกระทำของจำเลยที่จงใจมอบหมายภริยาจำเลยให้นำมาสเตอร์เทปเพลง 2 เพลง เช่นเดียวกับที่ได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดให้โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว คือ เพลง น. และเพลง ส. ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยสามารถคาดหมายได้ว่าบุคคลภายนอกต้องนำมาสเตอร์เทปดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายในท้องตลาดแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 เพราะกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน จากนั้นบุคคลภายนอกก็ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 ดังที่จำเลยคาดหมาย ถือว่าจำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์คาราโอเกะของโจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5633-5638/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาก่อสร้างในคดีฟื้นฟูกิจการ ต้องอาศัยเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 390
การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/41 ทวิ นั้น ต้องกำหนดรายการปฏิเสธสิทธิดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/42 (10) และเนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เกี่ยวกับรายละเอียดในการชำระหนี้ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง กรณีใดที่กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วก็จะต้องนำบทบัญญัติในเรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นมาใช้บังคับ การเลิกสัญญาในกรณีที่คู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการมิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 390 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วยกัน?" บทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าการที่ลูกหนี้จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก่อสร้างในโครงการบำบัดน้ำเสียกับผู้ร้องที่ 4 ซึ่งมีผลเท่ากับบอกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียได้นั้น ลูกหนี้กับบริษัท พ. และบริษัท ล. ซึ่งได้ตกลงทำสัญญากิจการร่วมค้าในลักษณะห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนจะต้องแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาด้วยกัน ลูกหนี้จะแสดงเจตนาไปโดยลำพังหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล กรณีสินค้าเสียหายจากการบรรจุและขนส่ง
ผู้ซื้อและผู้ขายตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศตกลงซื้อขายกันตามเงื่อนไข INCOTERMS แบบ EX WORKS ผู้ขายจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย ส่วนผู้ซื้อมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งไปรับสินค้าจากที่หน้าโรงงานของผู้ขาย
เมื่อการซื้อขายครั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันให้ผู้ขายมีหน้าที่เพียงส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย และโจทก์มีพนักงานของบริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ส่งมาเบิกความยืนยันว่าได้มีการตกลงกันตามสัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จึงเชื่อได้ว่าหน้าที่ความรับผิดชอบในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามสัญญารับขนซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้นั้นเป็นของผู้ขนส่ง ดังนั้น ไม่ว่าการบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่แท้จริงผู้ส่งจะช่วยบรรจุด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากความผิดของผู้ส่งในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าตลอดช่วงการขนส่งจากเมืองท่าลา สเปเซียถึงกรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้า ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงการรับขนของช่วงใดก็ตาม ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าในช่วงการขนส่งจากประเทศสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร แม้ต้องรับผิดเฉพาะในช่วงการรับขนของตน แต่เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นนอกช่วงการขนส่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุตัดสิทธิของผู้ขนส่งตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยทั้งสามจึงได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดคือต้องรับผิดเพียงไม่เกิน 30 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม ตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 247/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ที่ไม่สมบูรณ์แต่เกิดจากความยินยอมของผู้กู้ ไม่ถือเป็นเอกสารปลอม ผู้กู้ต้องรับผิดตามสัญญา
โจทก์จำเลยกับพวกร่วมกันเล่นแชร์โดยโจทก์เป็นนายวงแชร์ ตามข้อตกลงเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือไว้ภายหลังที่จำเลยได้รับเงินแชร์จากโจทก์ ดังนั้น ข้อความในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกก็คือจำนวนเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องชำระคืนแก่โจทก์ พฤติการณ์เท่ากับว่าจำเลยได้ยินยอมให้โจทก์กรอกจำนวนเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระคืนตามความเป็นจริงนั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยจะต้องชำระคืนเงินค่าแชร์เป็นจำนวน 82,800 บาท และโจทก์กรอกจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้ตรงกับมูลหนี้ที่แท้จริง สัญญากู้จึงไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผูกพันตามสัญญา แม้ใช้ตราประทับไม่ถูกต้อง หากได้รับประโยชน์จากสัญญานั้น
แม้ว่าตราประทับของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ใช้ประทับในสัญญาจะมิใช่ตราสำคัญที่บริษัทจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็เป็นตราที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ในการทำธุรกรรมทางการค้ากับโจทก์ตลอดมาเป็นเวลานานประมาณ 10 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เข้ารับเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว การทำสัญญาดังกล่าวจึงสมประโยชน์จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10443/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์นำไปจดทะเบียนได้ หากมีข้อตกลงชัดเจนก่อนหน้า
โจทก์กู้เงินจากจำเลยและมอบหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้แก่จำเลยยึดถือไว้ โดยมีข้อตกลงด้วยว่าหากโจทก์ไม่มีเงินชำระคืนตามกำหนด ให้จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยได้ การที่ต่อมาโจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนจำเลยได้และจำเลยได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เป็นไปตามที่ตกลงกัน จำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ใช่เอกสารปลอม และนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5911/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมรับผิดในหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและจำนอง โดยศาลแก้คำพิพากษาเดิมให้จำเลยต้องรับผิดตามสัดส่วน
ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ ระบุว่าทำที่ธนาคารโจทก์ในวันที่ 30 ธันวาคม 2541 มีเนื้อความตอนต้นว่า ตามที่บริษัท อ. และบริษัทจำเลยที่ 1 ต่างได้รับสินเชื่อไปจากธนาคารโจทก์ประเภทสกุลเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐนั้น บัดนี้บริษัททั้งสองมีความประสงค์จะขอโอนและรับโอนภาระหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์ มีเนื้อความตอนต่อไปว่า ตามที่บริษัท อ. มีภาระหนี้กับโจทก์ สาขาฮ่องกง ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2541 รวมเป็นเงินจำนวน 1,287,046.95 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น บริษัทจำเลยที่ 1 ขอรับโอนภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวทั้งหมดที่บริษัท อ. มีอยู่กับโจทก์ ณ สาขาฮ่องกง มาเป็นหนี้ในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 ณ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ และยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนสกุลเงินจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเงินบาท และในตอนท้ายระบุว่า บันทึกนี้ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ได้รับทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ชำระหนี้แทนบริษัท อ. และมิให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่แต่ประการใด ข้อเท็จจริงได้ความว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวทำขึ้นที่ธนาคารโจทก์จริง ในวันทำบันทึกข้อตกลง บริษัท อ. และจำเลยที่ 1 ต่างก็ได้ลงนามในฐานะผู้โอนและผู้รับโอนไว้ ส่วนโจทก์ยังไม่ได้ลงนาม เพราะต้องมีการเสนอให้ลงนามไปตามลำดับชั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับบริษัท อ. และโจทก์ โดยใจสมัครและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งต่อมาก็ได้มีการลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามแทนโจทก์ บันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ได้ ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้เพราะหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้ในคำให้การและไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกประเด็นข้อนี้มาเป็นเหตุหนึ่งในการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 13 ฉบับ และจำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 11 ฉบับ เมื่อรวมวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จากทุกสัญญาดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเกินกว่าหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 รวมกับหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เต็มจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 2 ฉบับ รวมวงเงิน 39,000,000 บาท และทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 3 ฉบับ รวมวงเงินทั้ง 3 สัญญา เป็นเงินจำนวน 24,000,000 บาท โดยตามสัญญาจำนองทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ตกลงด้วยว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบถ้วน ดังนั้น นอกเหนือจากที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่จำนองในวงเงินต้นเงินรวม 24,000,000 บาท ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีบุคคลสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ในวงเงินต้นเงินรวม 24,000,000 บาท ด้วย เมื่อรวมวงเงินต้นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นเงินทั้งสิ้น 63,000,000 บาท ซึ่งยังน้อยกว่าวงเงินต้นเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 รวมกับหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้จำนวน 67,394,972.55 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงในวงเงินต้นเงินจำนวน 63,000,000 บาท พร้อมอุปกรณ์แห่งหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7308/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่การกู้ยืมอำพราง แม้โจทก์ไม่มีสินค้าเป็นของตนเอง
การให้เช่าซื้อเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในธุรกิจการค้าอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ดังที่ได้ระบุไว้ตามหนังสือรับรอง แม้โจทก์จะไม่มีสินค้าของตนเอง แต่ก็อาจนำเอาสินค้ามาให้ลูกค้าทำการเช่าซื้อได้ โดยทำสัญญาเช่าซื้อกันไว้ล่วงหน้า ให้มีผลบังคับกันได้ ในเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งมิได้มีข้อจำกัดว่าเมื่อไม่มีสินค้าของตนเองแล้วจะประกอบธุรกิจการค้าประเภทนี้ไม่ได้ จำเลยก็ยอมรับข้อเสนอของโจทก์ในอันที่จะผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อและทราบถึงวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ทั้งยังได้ยอมรับเอาเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งการชำระหนี้อันเป็นผลโดยตรงที่คู่กรณียอมรับนับถือและพึงใช้บังคับต่อกันตามข้อสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นนิติกรรมที่ใช้บังคับแก่คู่กรณีได้ มิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาที่ไม่สมบูรณ์: การแสดงเจตนาที่ไม่ชัดเจน และการกรอกข้อความภายหลังทำให้สัญญายังไม่ผูกพัน
โจทก์นำแบบพิมพ์สัญญาซึ่งยังมิได้กรอกข้อความมาให้จำเลยลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าเป็นใบสมัครงาน จำเลยหลงเชื่อจึงลงลายมือชื่อในเอกสารไปโดยจำเลยยังไม่ได้ตกลงกับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญา การที่โจทก์นำสัญญาไปกรอกข้อความในภายหลัง แม้จะมีลายมือชื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาก็จะถือว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญายังไม่ได้ จึงยังไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์จะนำสัญญามาฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานผิดสัญญาหาได้ไม่
of 14