คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3222/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์คดีเช็ค ย่อมระงับสิทธิฟ้องอาญา คดีความผิดต่อส่วนตัว
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความว่าตามที่บริษัท ว. โดย ร. ผู้รับมอบอำนาจได้ร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ น. ผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไว้นั้น บัดนี้ บริษัท ว. ไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ น. อีกต่อไป เนื่องจากได้ตกลงกับผู้ต้องหาจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้กล่าวหาจึงขอถอนคำร้องทุกข์ โดยมี ร. ลงชื่อในช่องผู้กล่าวหา ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ร. ไปถอนคำร้องทุกข์โดยไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย ส่วนที่ ซ. พยานโจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า พยานไปถอนคำร้องทุกข์ เนื่องจากพนักงานสอบสวนใช้เวลาดำเนินคดีนาน พยานประสงค์จะนำเช็คมาฟ้องคดีด้วยตนเองนั้น นอกจากจะขัดแย้งกับข้อความในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ระบุว่าผู้กล่าวหาได้ตกลงกับผู้ต้องหาจนเป็นที่พอใจแล้ว ยังปรากฏว่าโจทก์เพิ่งไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยก่อนที่จะถอนคำร้องทุกข์เพียง 13 วันเท่านั้น คำเบิกความของ ซ. ย่อมรับฟังไม่ได้ ดังนี้ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 5 การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปในคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความร้องทุกข์ต้องมีเจตนาให้ดำเนินคดีกับจำเลย หากไม่มีอำนาจฟ้องคดีความผิดอันยอมความได้ย่อมเป็นโมฆะ
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมมีข้อความว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ ร. จัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษ ทั้งเหตุที่แจ้งความร้องทุกข์ก็เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)
เมื่อความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่มีคำร้องทุกข์ ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง