พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1380/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างงานและสิทธิค่าชดเชยของลูกจ้างต่างด้าว กรณีงานที่ทำไม่ขัดกฎหมายแรงงานต่างด้าว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสาม ที่กำหนดให้ลูกจ้างที่นายจ้างแจ้งเป็นหนังสือแต่แรกว่าให้ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาไม่เกิน 180 วันและยังอยู่ในระหว่างทดลองงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง ได้ถูกยกเลิกโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคมพ.ศ. 2532 ข้อ 7 อุทธรณ์จำเลยที่ว่าโจทก์อยู่ในระหว่างทดลองงาน จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย และแม้ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์อยู่ใน ระหว่างทดลองงานหรือไม่ก็ไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานในหน้าที่อาจารย์สอนภาษาอังกฤษและงานอื่น ๆ ตามที่จำเลยจะมอบหมาย โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้เป็นครูตาม พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มาตรา 39 แก่โจทก์ ระยะแรกโจทก์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ได้เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นครู จำเลยได้ ให้โจทก์โฆษณาให้โรงเรียนของจำเลย และจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดมาแสดงว่างานที่จำเลยจ้างโจทก์ทำไม่ใช่ มีเฉพาะงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอันเป็นงานที่ต้อง ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่จำเลยได้จ้างโจทก์ให้ทำงาน โฆษณาให้โรงเรียนของจำเลยด้วย ซึ่งเป็นงานที่ไม่ห้าม คนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 แต่จะต้องรับใบอนุญาต จากอธิบดีก่อนคนต่างด้าวจึงจะทำงานดังกล่าวได้ตามมาตรา 7 โดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ ของจำเลยในฐานะผู้ประสงค์จะให้โจทก์คนต่างด้าวทำงานเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตแทนโจทก์ ดังนั้น สัญญาจ้างโจทก์ในส่วนที่ให้ทำงานอย่างอื่นนอกเหนือจากการเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษจึงไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยยังคงมีสิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาจ้างและกฎหมายต่อโจทก์ทุกประการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2533 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าชดเชยเลิกจ้าง: สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ต้องพิจารณาลักษณะงาน หากไม่ใช่ลักษณะเป็นครั้งคราว จร หรือตามฤดูกาล นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 กรณีที่ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการด้วย จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนก่อนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับแต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงในขณะที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ผลการเลิกจ้างจึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 เมื่อจำเลยไม่ได้จ้าง โจทก์เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นการครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง