คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ.2515 ข้อ 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจากการทำงาน: ผลกระทบจากการยกเลิกกฎหมายเดิม และหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 ป.บุตรโจทก์ที่ 1และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เนื่องจากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ให้ยกเลิกข้อ 2(6) และข้อ 3 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งเกี่ยวกับเงินทดแทน การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าลักษณะงานที่จำเลยจ้าง ป.ทำในคดีนี้เป็นงานเกษตรกรรมที่มิได้จ้าง ป. ให้ทำงานตลอดปีและไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วย กรณีจึงมิได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม เมื่อเป็นการนำกฎหมายในส่วนที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาบังคับ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานดังกล่าวย่อมไม่ชอบข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อปัญหาว่าจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ เรื่องเงินทดแทน เพราะจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วหรือไม่เสียก่อนเมื่อศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,56 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6273/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเภทกิจการขนส่งผู้โดยสาร: การพิจารณาตามลักษณะธุรกิจที่แท้จริง แม้มีบริการอื่นประกอบ
โจทก์ทำสัญญาสัมปทานกับท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยดำเนินธุรกิจรับส่งผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยาน ซึ่งกิจการดังกล่าวต้องใช้รถยนต์และพนักงานขับ ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์ตามระยะทาง กิจการของโจทก์จึงเป็นกิจการขนส่งผู้โดยสาร ไม่ใช่เป็นเพียงกิจการสำนักงานบริการ โจทก์จึงต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประเภทกิจการขนส่งรหัส 1407 ร้อยละ 1.2 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราและวิธีการเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานเงินทดแทน และการอุทธรณ์ (ฉบับที่ 3).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของกองทุนเงินทดแทน กรณีลูกจ้างประสบอันตรายจากการฝึกซ้อมกีฬาเพื่อการทำงาน
อำนาจหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและผู้เป็นเจ้าของกองทุนเงินทดแทนคือกรมแรงงาน สำนักงานกองทุนเงินทดแทน คือหน่วยงานหนึ่งของ กรมแรงงานการปฏิบัติหน้าที่ของ สำนักงานกองทุนเงินทดแทน กับของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนถือเป็นการกระทำของ กรมแรงงาน เมื่อโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง กรมแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของ สำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบตามอัตราเงินสมทบในตารางที่ 1 ท้ายประกาศ โดยกำหนดประเภทกิจการเป็นรหัส และอัตราเงินสมทบแตกต่างกัน ก็เพื่อจะเรียกเก็บเงินสมทบมากน้อยตามประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงไม่เท่ากันในการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มิใช่เป็นการจำกัดความรับผิดว่า ถ้าลูกจ้างไม่ได้ประสบอันตรายเพราะการทำงานปกติหรือตาม วัตถุประสงค์ของนายจ้างแล้ว สำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็ไม่ต้องจ่ายเงินทดแทน เพราะประเภทกิจการอย่างหนึ่งของนายจ้างอาจมีงานอื่น ๆ นอกเหนือจากสภาพการทำงานปกติของลูกจ้างรวมอยู่ด้วยเมื่อนายจ้างของโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นนักกีฬาฟุตบอลเพื่อแข่งขันกีฬาระหว่างธนาคารซึ่ง ระเบียบของนายจ้างถือว่าการแข่งขันและการฝึกซ้อมกีฬาเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร การที่โจทก์ประสบอันตรายในขณะฝึกซ้อมฟุตบอล จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีค่าทดแทน – กรมแรงงานมีหน้าที่จ่ายแม้จ่ายเงินสมทบไม่ตรงประเภท – การฝึกซ้อมกีฬาถือเป็นการทำงาน
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นในกรมแรงงาน กำหนดให้เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายและเงินอื่น ๆ ที่ประกอบเป็นกองทุนเงินทดแทนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมแรงงาน กรณีที่ นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินสมทบหรือจ่ายไม่ครบ ก็ให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างได้ และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันดังกล่าวก็บัญญัติให้มีสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในกรมแรงงาน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนและให้มีคณะกรรมการเรียกว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ สำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็คือหน่วยงานหนึ่งของกรมแรงงานจำเลยนั้นเอง การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จึงถือว่าเป็น การกระทำของจำเลย ฉะนั้นการที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนได้ โจทก์เป็นพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้เป็นนักฟุตบอลเพื่อแข่งขันกีฬาระหว่างธนาคาร โดยมีระเบียบของนายจ้างว่าการแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร จึงถือได้ว่าการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันกีฬาของโจทก์เป็นการทำงานให้นายจ้างตามคำสั่งของนายจ้าง เพราะการเล่นกีฬาย่อมก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่พนักงานและมีพลานามัย แข็งแรงเป็นประโยชน์แก่การทำงานให้แก่นายจ้าง การที่โจทก์ประสบอันตรายในการฝึกซ้อมฟุตบอลจึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง แม้นายจ้างของโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนทดแทนประเภทกิจการสถาบันทางการเงินไม่ได้จ่ายตามประเภทกิจการบันเทิงและการกีฬาก็ตาม จำเลยก็ไม่หลุดพ้น จากความรับผิดในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์.