คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลเมื่อสินค้าสูญหายหลังส่งมอบให้ท่าเรือ: สิ้นสุดเมื่อใด?
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยเป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการออกใบตราส่งเท่านั้น แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันขนส่งสินค้าโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการออกใบตราส่ง แต่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวการร่วมขนส่งสินค้ากับจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่าคดีรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์ในคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น
จำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งเป็นผู้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้า ได้ขนส่งตู้สินค้าที่บรรจุสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางและส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยชอบแล้ว หน้าที่ดูแลสินค้าของจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการสูญหายของสินค้าที่เกิดขึ้นในขณะที่สินค้าอยู่ในความอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 4,429,810.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จทุนทรัพย์เฉพาะส่วนที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงมีเพียง 2,886,660.22 บาท โจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 72,167.50 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ธนาคารภายใต้เลตเตอร์ออฟเครดิต: การตรวจสอบเอกสารและสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย
โจทก์เป็นผู้ขายสินค้าและรับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในกาส่งสินค้าและรวบรวมเอกสารการส่งสินค้าให้ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อยืนยันและขอรับตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยเป้นธนาคารผู้แจ้งเครดิตและตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยได้รับการแต่งตั้งให้กระทำการแทนในการจ่ายเงินหรือการรับซื้อตั๋วเงินและเอกสารด้วยจำเลยจึงปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในฐานะตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเครดิตกับธนาคารผู้ยืนยันเครดิตดังกล่าว หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารซึ่งเป็นตัวการ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อตัวการ แต่ความผิดชอบในการตรวจเอกสารตามยูซีพี 500 มิใช่หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องตัดหาเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนมาแสดงเองโดยตรง จึงเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าต่อโจทก์
จำเลยไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการตรวจสอบเอกสารส่งสินค้าออกให้แก่โจทก์และสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย การที่จำเลยจัดส่งเอกสารการส่งสินค้าออกไปให้ธนาคารผู้ยืนยันเครดิตโดยจำเลยมิได้สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าแต่ละงวด และเอกสารการส่งสินค้าออกมีข้อความไม่ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเหตุให้ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าของโจทก์ และธนาคารผู้ยืนยันเครดิตปฏิเสธไม่จ่ายเงินค้าสินค้า โดยแจ้งสาเหตุว่าการสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิตและใบตราส่งสินค้าระบุค่าใช้จ่ายอื่นด้วยนอกเหนือจากค่าระวางเรือจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาค่อโจทก์หรือความเสียหายของโจทก์เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารในฐานะตัวแทนตรวจสอบเอกสาร L/C หน้าที่ต่อตัวการและผู้รับประโยชน์
แม้จำเลยจะต้องตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออก แต่หน้าที่ของจำเลยดังกล่าวเกิดจากการแต่งตั้งและมอบหมายจากธนาคาร ฟ. และธนาคาร บ. จำเลยจึงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของธนาคาร ฟ. ผู้เปิดเครดิตกับธนาคาร บ. ผู้ยืนยันเครดิต หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารซึ่งเป็นตัวการ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อตัวการโดยความรับผิดชอบในการตรวจเอกสารตามยูซีพี 500 มุ่งหมายถึงหน้าที่และความรับผิดของธนาคารที่เกี่ยวข้องในการตรวจเอกสารเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในการขอเปิดเครดิตของลูกค้าผู้ขอเปิดเครดิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้ขอเปิดเครดิตนั้นในอันที่จะได้รับเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามคำขอเปิดเครดิต มิใช่หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดหาเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนมาแสดงเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลตเตอร์ออฟเครดิต: ผู้ซื้อมีสิทธิไม่ชำระเงินหากผู้ขายส่งมอบเอกสารไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไข
สินค้าเครื่องจักรที่ผู้ขายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าตามวัตถุประสงค์ที่สั่งซื้อได้ ซึ่งเกิดจากในการแสดงเอกสารเพื่อขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ผู้ขายมิได้ส่งมอบเอกสารแสดงคุณลักษณะทางเทคนิคของอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์กับเอกสารแบบระบบไฟฟ้าและคู่มือแนะนำการใช้งานรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ให้แก่ธนาคารตัวแทนของโจทก์เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในประเทศไทยตามเงื่อนไขแห่งเลตเตอร์ออฟเครดิต ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถประกอบติดตั้งส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักรเข้าด้วยกันและเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ แม้โจทก์และธนาคารตัวแทนของโจทก์จะไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าในตู้สินค้า แต่ก็มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบเอกสารตามที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่ธนาคารตัวแทนของโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายโดยไม่ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วนตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงเป็นการชำระเงินไปโดยผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ตกลงด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่จะต้องชดใช้เงินที่ธนาคารตัวแทนของโจทก์หรือโจทก์จ่ายไปโดยผิดจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทมาด้วย แต่หนี้ตามสัญญาดังกล่าวมีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ชำระเงินแก่ผู้ขายตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยตรง และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ก็โดยมีวัตถุประสงค์ขอรับเอกสารการส่งสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยออกมาก่อน โดยยังไม่ชำระเงินค่าสินค้าคืนให้แก่โจทก์ในวันนั้นแต่จะชำระคืนให้ในภายหลังและมีข้อตกลงว่าสินค้านั้นยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ สัญญาทรัสต์รีซีทจึงไม่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งมีมูลหนี้เดิมมาจากสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตด้วย รวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหลักประกันของหนี้รายนี้ด้วย และเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่จำต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่จำต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำฟ้องแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4034/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีคำบางส่วนซ้ำกัน และสินค้ามีราคาสูง-ต่ำแตกต่างกัน ไม่อาจสับสนได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า CHARLIE อ่านว่า "ชา-ลี" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้คำว่า ROYAL CHARLE อ่านว่า "รอ-ยอล-ชาร์ล" โดยวางคำว่า ROYAL และ CHARLE อยู่คนละบรรทัดกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงมีเสียงเรียกขานต่างกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าจากต่างประเทศและวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีราคาอย่างต่ำขวดละ 200 บาท ในขณะที่สินค้าของจำเลยมีราคาเพียง 15 ถึง 19 บาทเท่านั้น จึงสามารถสังเกตถึงความแตกต่างดังกล่าวได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนหรือหลงผิดระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย เครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลยจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHARLIE ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่จดทะเบียนแล้วในธุรกิจที่ใกล้เคียงกันเป็นการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและก่อให้เกิดความเสียหาย
โจทก์ได้ใช้คำว่า "ORIENTAL" และ "โอเรียนเต็ล" เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ และชื่อทางการค้าในกิจการโรงแรมของโจทก์จนมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมานานแล้ว โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการไว้ในจำพวกที่ 42 สำหรับการให้บริการธุรกิจโรงแรมและโมเต็ลโดยมิได้จดทะเบียนในจำพวกธุรกิจบ้านจัดสรรและอาคารชุดไว้ ต่อมาจำเลยได้ใช้คำว่า "ORIENTAL SUITE" และ "โอเรียนเต็ลสวีท" เป็นชื่อโครงการอาคารชุดของจำเลย ธุรกิจอาคารชุดของจำเลยจึงมิใช่จำพวกสินค้าหรือบริการที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคแรก อย่างไรก็ตาม โจทก์ได้ใช้คำว่า "ORIENTAL" เป็นชื่อทางการค้าและชื่อโรงแรมในการประกอบกิจการโรงแรมในระดับ 5 ดาว จนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากสาธารณชนทั่วไป โจทก์จึงเป็นเจ้าของและมีสิทธิในชื่อทางการค้า คำว่า "ORIENTAL" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์มีสิทธิฟ้องบุคคลอื่นที่นำชื่อทางการค้าของโจทก์ไปใช้โดยไม่สุจริตจนทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าเป็นกิจการเดียวกับโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์และทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อต้องเสื่อมเสียประโยชน์
การที่จำเลยนำคำว่า "โอเรียนเต็ล" และ "ORIENTAL" ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าในกิจการโรงแรมของโจทก์มาใช้เป็นชื่อในโครงการอาคารชุดของจำเลยซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกิจการโรงแรมของโจทก์เพราะเป็นการให้บริการในเรื่องห้องพักอาศัยเช่นเดียวกัน ประกอบกับโครงการอาคารชุดของจำเลยกับโรงแรมของโจทก์ต่างตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะอยู่คนละฝั่งแต่ก็เยื้องกันไม่มากนับว่าอยู่ใกล้เคียงกัน ย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดต่อสาธารณชนว่ากิจการของจำเลยเป็นกิจการของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยที่ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการแอบอ้างเอาชื่อเสียงจากชื่อทางการค้าของโจทก์ไปหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยไม่สุจริตและเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ของเด็ก – การแก้ไขดุลพินิจโทษปรับ
จำเลยเป็นเด็ก ในท้องที่ที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่ตามปกติและท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิด ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ดังนั้นคดีนี้จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่อาจนำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ซึ่งห้ามศาลกักขังแทนค่าปรับ โดยให้ส่งไปฝึกอบรมแทนมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30 จึงชอบแล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2545)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9524/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้อง, อัตราแลกเปลี่ยนเงิน, และขอบเขตคำพิพากษาในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศไม่อยู่ในบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
หนังสือมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกลงชื่อเป็นพยานและมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ แม้จะไม่มีกงสุลไทยเป็นพยาน ก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม การมอบอำนาจนั้นย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจศาลตามสัญญาฉบับพิพาทที่กำหนดให้คู่สัญญาดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแห่งประเทศอังกฤษเพียงแห่งเดียว จะทำขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งและเปิดทำการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า- ระหว่างประเทศกลางก็ตาม แต่คดีนี้เกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล จำเลยทั้งหมดต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลในประเทศไทย คือ ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(2) เดิม(มาตรา 4(1) ที่แก้ไขใหม่) ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับศาลทรัพย์สิน-ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีเขตศาลตลอดกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม พ.ร.บ.มาตรา 5 และมาตรา 7(3) โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หาจำต้องนำไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศอังกฤษแต่เพียงแห่งเดียวไม่
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 68 วรรคสอง, 80 และ 94 ซึ่งบัญญัติให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการหรือเครื่องหมายร่วมเฉพาะที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนด้วย มีผลใช้บังคับในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ขณะทำสัญญาบทกฎหมายดังกล่าวยังไม่ใช้บังคับ และกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเครื่องหมายบริการขณะนั้นยังไม่มี เมื่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ และบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่ทำให้สัญญาซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปหรือตกเป็นโมฆะ
สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัทผู้อนุญาตกับจำเลยที่ 1 ผู้รับอนุญาตมีข้อตกลงว่า "ให้ผู้อนุญาตโอนสิทธิและภาระผูกพันของตนได้อย่างอิสระ" และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ทราบโดยทางโทรสารและไปรษณีย์ลงทะเบียนแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าสภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ บริษัทผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิจึงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้โดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก และเมื่อการโอนดังกล่าวมีการแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ทราบแล้วตามมาตรา 306 วรรคแรก การโอนนั้นจึงใช้ยันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
การโอนสิทธิและอนุญาตให้ใช้สิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายการค้า และสิทธิในระบบปฏิบัติการที่มีอยู่แล้วก่อนนำมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายบริการในประเทศไทยมิใช่การโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามแบบแห่งนิติกรรมดังที่กำหนดไว้มาตรา 51 วรรคสอง และ 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า-ระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามคำขอบังคับของโจทก์ท้ายคำฟ้องเท่านั้น
แม้ลูกหนี้มีสิทธิชำระหนี้เงินดอลลาร์สหรัฐตามคำพิพากษาเป็นเงินบาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคแรก แต่การเปลี่ยนเงินก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 196 วรรคสอง ที่ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน การชำระหนี้ด้วยเงินไทยและการเปลี่ยนเงินเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา แต่การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทโดยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาซึ่งอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลาที่มีการใช้เงิน หากลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันอ่านคำพิพากษาซึ่งถ้าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินบาทได้มากกว่าในวันชำระเงินจริง ก็จะทำให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ด้วยเงินบาทเป็นจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินและมีผลทำให้จำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทนั้นคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐสูงกว่าจำนวนเงินตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์อันถือเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและ วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเฉพาะกรณีที่จะมีผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาผู้ใช้สิทธิก่อนและเจตนาในการสร้างเครื่องหมาย
โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า KIPLING ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ 18 ก่อนโจทก์ประมาณ 1 ปี โดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกันนี้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 25 ไว้แล้วและไม่ปรากฏว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 24 กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เพราะมาตรานี้เป็นเรื่องผู้มีส่วนได้เสียฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้ว แต่โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า การแจ้งข้อความเท็จ และการบังคับตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้ารูปตา 1 ตา และเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรี 1 ตัว และจำเลยได้ทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว แต่ลักษณะดวงตามีรัศมี 19 เส้น เหมือนรูปตาตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และรูปนกอินทรีก็ถือกิ่งไม้ 1 กิ่ง กับลูกศร 3 ดอก เหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เช่นกัน คงต่างกันแต่จำนวนดวงตาและจำนวนนกอินทรีเท่านั้น และจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าที่ทำขึ้นไปใช้กับสินค้าของจำเลยนำออกจำหน่าย อันแสดงให้เห็นได้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะทำให้ประชาชนสับสน หลงผิด หลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นและนำไปใช้กับสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมเป็นความผิดตามคำฟ้องได้ โดยไม่จำต้องคำนึงถึงกรณีที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้านั้นแล้ว จำเลยจะนำไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้หรือไม่ หรือนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้หรือไม่
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นนั้น ในภาพรวมของแต่ละเครื่องหมายมีลักษณะเพียงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น ไม่ได้เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการจนถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และแม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
การที่โจทก์จะขอให้ศาลบังคับตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 116 ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่าจำเลยได้กระทำการหรือกำลังจะกระทำการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีคำขอดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องซึ่งบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงปลายเดือนมกราคม 2540 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวเสร็จสิ้นไป ก่อนวันที่โจทก์มีคำขอมาท้ายคำฟ้องประมาณ 7 เดือน ไม่ใช่กรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการหรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวในขณะที่โจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 คำขอของโจทก์เช่นนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 116 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีเช่นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225