คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 95 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6371/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา, การรับสารภาพ, และดุลพินิจศาลในการลงโทษ
ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ความผิดทั้งสองฐานมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางกาย แม้ไม่มีเจตนาทำร้าย แต่ผลที่เกิดขึ้นย่อมคาดการณ์ได้ และความผิดฐานพาอาวุธมีอายุความ
จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปและเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายเป็นผลให้จำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้จำเลยจะฎีกาว่า ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายเบิกความ ผู้เสียหายไม่ทราบว่าไปโดนคมมีดตอนไหน เข้าใจว่าคงจะโดนตอนที่กลับตัวมาไขกุญแจรถ บาดแผลจึงไม่ได้เกิดจากจำเลยมีเจตนาใช้มีดทำร้ายผู้เสียหายก็ตามก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้น จึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย
อนึ่ง ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2545 เมื่อนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ด้วยจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7027/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความความผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และองค์ประกอบความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอน
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 40 เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จหาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่จนถึงวันฟ้องไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2533 อายุความจึงเริ่มนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารพิพาทแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5)
ฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีจราจร และความประมาทเลินเล่อจากการขับรถโดยไฟท้ายชำรุด
ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2539 ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขฟ้องคดีอาญา, อายุความความผิดฐานพาอาวุธ, และการลดโทษจากประโยชน์ต่อการพิจารณา
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปได้ 2 ปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมิได้ปรากฏในฟ้องเดิม หาได้เป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดที่ต้องแถลงหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ไม่ เมื่อเป็นดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงเพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาของศาล หาได้ปรากฏตั้งแต่ในชั้นสอบสวนไม่ ถือว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการสอบสวนในความฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ฟ้องคดีในความผิดที่ยังไม่มีการสอบสวนไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในข้อนี้ไม่ได้
ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ ตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5489/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความความผิดฐานมีอาวุธปืน และการที่ศาลฎีกาสั่งยกฟ้องข้อหาขาดอายุความ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 26 กรกฎาคม 2535 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 3 ตุลาคม 2540 คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาไตร่ตรองไว้ก่อนในการพยายามฆ่า และอายุความความผิดพกพาอาวุธ
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันทันด่วนไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองตะโกนให้ของลับแล้วเดินออกจากร้านอาหารไปโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้ออกจากร้านอาหารไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตระเตรียมการเพื่อฆ่าผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 กลับมาที่ร้านอาหารแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกัน จึงไม่พอที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ความผิดข้อหาพาอาวุธปืนตาม ปอ. มาตรา 371 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท นั้น มีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดวันที่ 15 มิถุนายน 2537 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12564/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสาขาพรรคการเมือง: ศาลฎีกาตัดสินคดีขาดอายุความ
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 22 (5) บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อพรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกเลิกหรือยุบไป และมาตรา 65 (4) บัญญัติว่า พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุที่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบเลิกพรรคเสรีธรรมในวันที่ 6 กันยายน 2544 สมาชิกภาพของจำเลยในการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองและการดำรงตำแหน่งกรรมการสาขาพรรคเสรีธรรมย่อมสิ้นสุดในวันดังกล่าว ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่งและภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง จำเลยซึ่งเป็นกรรมการสาขาพรรคเสรีธรรมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ พ้นจากตำแหน่งโดยยื่นตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2544 จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2544
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 84 ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงมีอายุความเพียงหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 วรรคหนึ่ง (5) การไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำที่กฎหมายบังคับให้กระทำ ความผิดของจำเลยจึงเสร็จสิ้นลงนับแต่ครบวันที่จำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน แม้มาตรา 84 จะบัญญัติให้ปรับจำเลยอีกไม่เกินวันละห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่จำเลยยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็เป็นเพียงที่มีผลในทำนองกำหนดหน้าที่ให้จำเลยปฏิบัติภายหลังการกระทำความผิดเท่านั้น หามีผลทำให้ความผิดของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องไม่
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คดีของจำเลยในส่วนที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 84 ยังไม่ขาดอายุความและลงโทษปรับจำเลยย่อมไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้จำเลยไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นว่ากล่าวเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานร่วมกระทำความผิด: การอ้างคำให้การของบุคคลที่ไม่ใช่จำเลยไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ล. มิได้เป็นจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงมิต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานที่ไม่เป็นจำเลย และการยกฟ้องอาญาในข้อหาบางกระทง
ล. มิได้เป็นจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงมิต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 232 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน
of 5