พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล: โบนัสพิเศษไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามหากไม่ได้กำหนดจ่ายจากผลกำไรสุทธิ
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังวันชี้สองสถานพร้อมทั้งแนบบัญชีพยานมาท้ายคำร้องด้วย ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวล้วนเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นที่ว่า ค่าใช้จ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่ถูกประเมินเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว คำสั่งที่อนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว เงินโบนัสพิเศษที่โจทก์จ่ายหาได้กำหนดขึ้นจากผลกำไรที่ได้รับในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่ แต่เป็นการจ่ายโดยคำนึงถึงผลการปฏิบัติงานของบริษัทโดยส่วนรวมแล้วนำมาจัดสรรให้แก่พนักงาน รายจ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์จึงมิใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2533
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักกลบลบหนี้, อายุความ, สัญญาค้ำประกัน, และอำนาจฟ้องแย้งในคดีแพ่ง
ในคดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเงินค่าสุราสำรอง โจทก์ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิและได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปแล้วประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนจึงมีว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่จำเลยที่ 1 ชำระไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยให้การว่าชำระแก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้วประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เข้ามาดำเนินการในโรงงานโดยมีข้อตกลงในการผลิตและจำหน่ายสุรา ค่าตอบแทนพิเศษ ส่วนแบ่งกำไรสุทธิและข้อตกลงอื่น ๆ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิมิใช่ค่าเช่า ทั้งมิได้กำหนดจำนวนเงินกันไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จึงต้องใช้อายุความในบททั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีกำหนด 10 ปี การที่จำเลยที่ 1 ได้ตอบหนังสือทวงถามของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1พร้อมจะจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่ยังส่งไม่ครบถ้วน พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาเช่า แต่มีเงื่อนไขว่าขอให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรในปัญหาเรื่องการคำนวณกำไรสุทธิก่อน แสดงว่าจำเลยที่ 1 เห็นว่าการคำนวณส่วนแบ่งกำไรสุทธิของตนนั้นถูกต้องแล้ว มิได้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามที่ทวงถามแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ว่าจะนำหนังสือค้ำประกันมามอบให้โจทก์นั้น ก็เป็นเพียงคำเสนอให้โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากระทำผิดสัญญาเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 อย่างไรก็ตาม หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความในเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนเกิน 10 ปี และ 5 ปี ซึ่งขาดอายุความในวันทำหนังสือดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวไม่ ทั้งหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนที่ขาดอายุความนั้น แม้จำเลยจะสามารถยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ก็ตาม แต่อายุความย่อมไม่ตัดรอน การหักกลบลบหนี้โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ได้ถ้าเวลาที่อาจจะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ได้นั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของโจทก์จึงมีผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่ 23 มกราคม 2523ซึ่งเป็นเวลาที่อาจหักกลบลบหนี้ได้เป็นครั้งแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 342 วรรคสอง ในวันดังกล่าวเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิของปี 2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แม้หนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้โจทก์บางส่วนจะขาดอายุความซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่เป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็ตาม แต่เมื่อหนี้ส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่ขาดอายุความมีเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าสุราสำรองที่ศาลแพ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1มาฟ้องแย้งเรียกเงินค่าสุราสำรองจำนวนเดียวกันกับที่ได้ฟ้องในคดีดังกล่าวในคดีนี้อีก ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของกำไรสุทธิที่เป็นส่วนแบ่งของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เอง มิใช่ชำระแทนโจทก์ โจทก์จะมีหน้าที่เสียภาษีหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินในส่วนนี้ และไม่อาจรับช่วงสิทธิจากกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังมาเรียกร้องได้อีกเช่นเดียวกันจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งได้ สัญญาค้ำประกันข้อ 2 มีใจความว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลา หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้นทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในทันทีที่หนี้ถึงกำหนดชำระไม่ใช่การผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้โจทก์นำเงินค่าสุราสำรองมาหักกลบลบหนี้ตามข้อเสนอของโจทก์ แต่โจทก์ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน