คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 118 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3458/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการกรณีค่าชดเชยและการทำคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกายกคำอุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้ศาลแรงงานกลางส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อันเป็นการผิดหลงที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวนั้นเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างเป็นอย่างน้อย แต่กฎหมายมิได้มีข้อห้ามมิให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ หากนายจ้างฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายก็มีผลใช้บังคับได้ คดีนี้ผู้ร้องทำสัญญาจ้างแรงงานกับผู้คัดค้าน ข้อ 1 มีกำหนดเวลาจ้าง 4 ปี ข้อ 4.1 ให้ค่าจ้างปีละ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ข้อ 9.3 ผู้ร้องเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ ผู้คัดค้านจะได้รับค่าชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าจ้าง 1 ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากันเป็นเงินบาท จำนวนนี้ให้ถือเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานของไทย โดยสัญญาไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้คัดค้านจะต้องทำงานขั้นต่ำมานานเท่าใด และไม่มีเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านทดลองงาน ถือได้ว่า ผู้ร้องได้สมัครใจทำสัญญาจ้างแรงงานปฏิบัติต่อผู้คัดค้านเรื่องเงินค่าชดเชยสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ สัญญาจ้างแรงงานเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวมีผลผูกพันและใช้บังคับคู่ความได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยมีสาเหตุมาจากผู้คัดค้านทำงานไม่เป็นที่พอใจของผู้ร้องและทำงานไม่มีประสิทธิภาพซึ่งผู้ร้องได้ตักเตือนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งผู้ร้องจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้คัดค้าน 108,333.33 บาท แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างของผู้ร้องมิใช่การเลิกจ้างโดยมีสาเหตุและไม่พบเหตุการณ์ใดเชื่อมโยงไปถึงการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 9.2 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดค่าเสียหายของคณะอนุญาโตตุลาการที่นำเงินช่วยเหลือของผู้ร้องจ่ายแก่ผู้คัดค้านมาคำนวณไว้ในส่วนการกำหนดค่าเสียหายอื่นที่ผู้คัดค้านร้องขอ ซึ่งศาลแรงงานกลางให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121-4124/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินชดเชยกรณีเกษียณอายุและการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มิใช่ค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
เดิมโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ต่อมาจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยออกข้อบังคับมีสาระสำคัญว่าเมื่อลูกจ้างได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุน ให้ถือว่าสิทธิการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมของบริษัทที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอันระงับไป ต่อมาโจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทราบเงื่อนไขตามข้อบังคับดังกล่าวและตกลงสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิมแล้วมาใช้สิทธิตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้วแทน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่แสดงเจตนาต่อจำเลยยินยอมสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิม เมื่อสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่จะได้รับเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานนั้น เป็นสิทธิที่เกิดจากระเบียบข้อบังคับ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เกิดจากข้อเรียกร้อง จึงสามารถตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เมื่อเงินค่าชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานได้ถูกนำไปรวมเป็นเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. แล้ว จึงต้องถือว่าค่าชดเชยตามระเบียบเดิมนั้นสิ้นสภาพไป และเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มีลักษณะแตกต่างจากค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เลิกจ้าง ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสี่จะได้รับเงินสมทบและเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และวันหยุดพักผ่อนประจำปี: การพิจารณาเหตุผลในการเลิกจ้าง และการคำนวณค่าชดเชยที่ถูกต้อง
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท