คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ เขียนนิลศิริ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 181 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดเป็นคนละกรรม
ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ ที่แก้ไขใหม่ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดที่แยกการกระทำออกจากกันได้ กล่าวคือ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นความผิดอาศัยเจตนาพิเศษโดยเป็นความผิดสำเร็จเมื่อจำเลยมีเจตนารับเอาเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อนำไปจำหน่ายกรรมหนึ่งแล้ว ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดสำเร็จในตอนหลัง เป็นอีกกรรมหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเลือกตั้งกระทำทุจริต กากบาทบัตรเลือกตั้งเอง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.เลือกตั้ง
จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 ได้หยิบบัตรเลือกตั้งใส่ในเสื้อที่สวมใส่แล้วเดินออกไปยังจุดนัดพบกับ ต. เพื่อให้ ต. ต่อจากนั้นได้กลับมายังที่หน่วยเลือกตั้ง จนเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขออนุญาตออกไปทำธุระข้างนอกและไปหา ต. กับพวกรวม 3 คน แล้วนำบัตรเลือกตั้งกลับมายังหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ล้วงเอาบัตรเลือกตั้งจากในเสื้อออกมาใส่กล่องบัตรดี บัตรเลือกตั้งทุกแผ่นมีการกากบาทเครื่องหมายไว้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาที่จะมิให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้บัตรเลือกตั้งเสียหายไม่อาจนำไปใช้การได้อีก อันถือได้ว่าเป็นการทำให้ผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งนั้นได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อนุญาตฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาลงโทษกักขังแทนจำคุกตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังจำเลย 1 เดือน แทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายฐาน การลงโทษและการอนุญาตฎีกา
แม้การจัดให้มีการเล่นการพนันเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน และการเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันแทงผลการแข่งขันฟุตบอลทางโทรทัศน์ อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพอันทำให้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำบรรยายฟ้องนั้น ปรากฏว่าโจทก์บรรยายการกระทำผิดของจำเลยรวมกันมาในข้อเดียวว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและเข้าเล่นการพนันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนโดยกระทำผิดในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน รวมทั้งวิธีการในการจัดให้มีการเล่นและวิธีการเป็นเจ้ามือก็เหมือนกัน ทั้งไม่ได้ระบุด้วยว่าเป็นการกระทำที่ต่างกรรมกัน ดังนี้ แม้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดทั้งฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนและฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ด้วยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวก็บ่งชี้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาอันเดียวกันคือรับพนันแทงผลการแข่งขันฟุตบอลในครั้งเกิดเหตุนั่นเอง การกระทำของจำเลยในคำบรรยายฟ้องของโจทก์แต่ละข้อจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังจำเลยแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเพียงว่าให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ซึ่งตามมาตรา 221 ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 ตรี ไม่ได้ ดังนั้น ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในข้อที่รอการลงโทษอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมาด้วยจึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานจัดให้มีการเล่นพนันฟุตบอล และการพิจารณาโทษสำหรับเจ้ามือรายใหญ่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางวัน จำเลยร่วมกับพวกที่หลบหนีเล่นการพนันทายผลฟุตบอล อันเป็นการพนันอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามบัญชี ก. และ ข. ท้าย พ.ร.บ.การพนันฯ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยจำเลยเป็นฝ่ายเจ้ามือจัดให้มีการแทงพนันผลการแข่งขันฟุตบอลระหว่างเวลาดังกล่าวข้างต้นรวม 5 ครั้ง โดยทุกครั้งมีลูกค้านำเงินมาแทงพนันผลการแข่งขันฟุตบอลกับจำเลยตามจำนวนที่ระบุมาในฟ้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 4 ทวิ, 12 (2) แล้ว
จำเลยเป็นเจ้ามือจัดให้มีการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลขึ้น ซึ่งปัจจุบันการพนันชนิดนี้แพร่ระบาดทั่วไปโดยเฉพาะในหมู่นักเรียนนักศึกษา การจัดให้มีการเล่นการพนันชนิดนี้ จึงมีส่วนสำคัญในการมอมเมาเยาวชนของชาติให้ลุ่มหลงในอบายมุข มีผลกระทบกระเทือนโดยตรงต่อการศึกษาและบั่นทอนอนาคตของเยาวชน ถือว่าเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าอันเป็นความหวังของชาติ เป็นภัยร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและความสงบสุขของสังคมโดยส่วนรวม หากไม่มีมาตรการดำเนินการโดยเด็ดขาดปัญหานี้จะลุกลามมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในคดีนี้จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่อเนื่องกันมีวงเงินที่แทงพนันกันเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นเจ้ามือการพนันรายใหญ่มีการเล่นได้เสียเป็นอาชีพ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรงที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 2 คนและมารดาที่เจ็บป่วย หากจำเลยได้รับโทษจำคุกจะทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์และฎีกาที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพ และประเด็นการคืนทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด
จำเลยให้การรับสารภาพว่าทรัพย์สินของกลางที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นอุปกรณ์และทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการเล่นพนันจริง ศาลรับฟังได้โดยโจทก์ไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบอีก ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เงินสดและเครื่องรับส่งเอกสารของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ขอให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบและขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้นั้น จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ และมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาด้วย จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน และอายุความแจ้งความเท็จ ศาลฎีกายกฟ้องบางข้อหา
จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้คนต่างด้าวได้รับบัตรประจำตัวประชาชน นับเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้
ภายหลังจากจำเลยที่ 2 กระทำความผิดคดีนี้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น "ผู้ไม่มีสัญชาติไทย" เป็น "ผู้ใด" ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดดังกล่าวในห้าปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ซึ่งเกินกว่าห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาดังกล่าว จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10617/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสาร การใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง: ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้อง
จำเลยทำสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารปลอมและฉ้อโกงผู้เสียหาย แต่หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้มอบอำนาจมอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ทั้งมิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ ส่วนสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไปกรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนเท่านั้น มิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ อีกทั้งมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 266 (1) และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) จำเลยคงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก กระทงหนึ่ง , มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และ 341 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10418/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีละเมิด: การพิจารณาปีที่เกิดเหตุผิดพลาดในคำฟ้องและเอกสารประกอบ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากเจ้าของรถ มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2542 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย แต่การแปลคำฟ้องมิได้พิจารณาเฉพาะข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ต้องพิจารณาเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบด้วย เมื่อเอกสารที่แนบมาท้ายฟ้องอันได้แก่แผนที่เกิดเหตุ รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและหนังสือทวงถามให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างระบุตรงกันว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2542 จึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์พิมพ์ปีที่เกิดเหตุละเมิดผิดพลาด ซึ่งเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยอันเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง ถือได้ว่าโจทก์ได้อ้างในคำฟ้องแล้วว่าเหตุละเมิดเกิดในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ส่วนเอกสารท้ายฟ้องจะรับฟังได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณา ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดในมูลละเมิดได้ แม้โจทก์จะมิได้แก้ไขคำฟ้องในส่วนที่พิมพ์ผิดพลาดดังกล่าวและจำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้หรือไม่ ก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10418/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีสัญญาประกันภัย: ศาลฎีกาวินิจฉัยปีเกิดเหตุผิดพลาดในคำฟ้องไม่กระทบอำนาจฟ้อง หากเอกสารท้ายฟ้องสอดคล้องกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ษ - 2128 กรุงเทพมหานคร ไว้จากเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2542 ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก - 7632 สุพรรณบุรี ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายหรือยินยอมของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย ซึ่งหากพิจารณาข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเหตุละเมิดเกิดก่อนวันที่สัญญาประกันภัยมีผลคุ้มครอง แต่ในการแปลคำฟ้องนั้นมิได้พิจารณาเฉพาะข้อความที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเท่านั้น ต้องพิจารณาเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบด้วยเมื่อพิจารณาเอกสารที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องต่างระบุตรงกันว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2542 เห็นได้ชัดว่าโจทก์พิมพ์ปีที่เกิดเหตุละเมิดผิดพลาด ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยอันเป็นรายละเอียดแห่งคำฟ้อง กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้อ้างในคำฟ้องแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดในระหว่างอายุสัญญาประกัน ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือตัวการให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนที่พิมพ์ผิดพลาดดังกล่าวและไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์
of 19