คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 45 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3458/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการกรณีค่าชดเชยและการทำคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกายกคำอุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งตามมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง และให้ศาลแรงงานกลางส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อันเป็นการผิดหลงที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวนั้นเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างเป็นอย่างน้อย แต่กฎหมายมิได้มีข้อห้ามมิให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ หากนายจ้างฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายก็มีผลใช้บังคับได้ คดีนี้ผู้ร้องทำสัญญาจ้างแรงงานกับผู้คัดค้าน ข้อ 1 มีกำหนดเวลาจ้าง 4 ปี ข้อ 4.1 ให้ค่าจ้างปีละ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ข้อ 9.3 ผู้ร้องเลิกสัญญาโดยไม่มีสาเหตุ ผู้คัดค้านจะได้รับค่าชดเชย 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าจ้าง 1 ปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากันเป็นเงินบาท จำนวนนี้ให้ถือเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานของไทย โดยสัญญาไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้คัดค้านจะต้องทำงานขั้นต่ำมานานเท่าใด และไม่มีเงื่อนไขให้ผู้คัดค้านทดลองงาน ถือได้ว่า ผู้ร้องได้สมัครใจทำสัญญาจ้างแรงงานปฏิบัติต่อผู้คัดค้านเรื่องเงินค่าชดเชยสูงกว่ามาตรฐานแรงงานขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ สัญญาจ้างแรงงานเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวมีผลผูกพันและใช้บังคับคู่ความได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยมีสาเหตุมาจากผู้คัดค้านทำงานไม่เป็นที่พอใจของผู้ร้องและทำงานไม่มีประสิทธิภาพซึ่งผู้ร้องได้ตักเตือนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งผู้ร้องจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้คัดค้าน 108,333.33 บาท แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างของผู้ร้องมิใช่การเลิกจ้างโดยมีสาเหตุและไม่พบเหตุการณ์ใดเชื่อมโยงไปถึงการเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 9.2 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดค่าเสียหายของคณะอนุญาโตตุลาการที่นำเงินช่วยเหลือของผู้ร้องจ่ายแก่ผู้คัดค้านมาคำนวณไว้ในส่วนการกำหนดค่าเสียหายอื่นที่ผู้คัดค้านร้องขอ ซึ่งศาลแรงงานกลางให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุขัดข้องและการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์อ้างเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัท ม. ภายหลังจากบริษัท ม. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัท ม. จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัท ม. ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัท ม. ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9857/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย: ลูกจ้างในทางการจ้างไม่ใช่บุคคลภายนอก
อนุญาโตตุลาการสืบพยานของคู่พิพาทเสร็จแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของ ช. มีหน้าที่ขนไก่ขึ้นลงจากรถ วันเกิดเหตุหลังจากส่งไก่เสร็จแล้ว ช. จะไปซื้อหญ้าที่อำเภอองครักษ์มาปลูกที่บ้าน ผู้ตายขอไปด้วยเพราะรู้จักสถานที่ จึงโดยสารมาในรถ ระหว่างที่ ช. ขับรถยนต์พาผู้ตายกลับบ้าน เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเดินทางไปกับ ช. หลังจากเสร็จสิ้นการส่งไก่ ไม่ใช่ทางการที่จ้าง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) (2) วรรคสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ตามเงื่อนไขท้ายกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่อาจยกความไม่สมบูรณ์ของกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น แต่เงื่อนไขท้ายกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่ ผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในเงื่อนไขกรมธรรม์ข้อนี้ ผู้คัดค้านย่อมไม่ถูกห้ามปฏิเสธความรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 8 ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ขัดต่อข้อสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2) วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13439/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยความประมาทร่วมกันในคดีรถชน ศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์ เหตุไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเกิดเหตุ ก. ขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน กล 1080 ชลบุรี ซึ่งประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองแล่นไปตามถนนที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกัน อ. ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน สย 3272 กรุงเทพมหานคร โดยมี ห. นั่งโดยสารมาด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุ รถกระบะที่ ก. ขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่ อ. ขับ รถยนต์ทั้งสองคันเสียหลัก รถกระบะที่ ก. ขับพลิกคว่ำลงร่องกลางถนน และรถยนต์ที่ อ. ขับ แล่นข้ามร่องกลางถนนและข้ามถนนด้านตรงข้ามสำหรับรถแล่นสวนทางมาไปชนแท่งปูนขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนอย่างแรง เป็นเหตุให้ อ. ถึงแก่ความตาย และ ห. ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาผู้ร้องในฐานะมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ อ. เสนอข้อพิพาทในฐานะผู้เสนอข้อพิพาทที่ 2 ต่ออนุญาโตตุลาการของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยขอให้อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า เหตุไม่ได้เกิดจากความประมาทของ ก. ฝ่ายเดียว แต่เกิดจากความประมาทของ อ. ด้วย อนุญาโตตุลาการสืบพยานแล้วมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 78/2556 ว่า เหตุเกิดจากความประมาทของ ก. และ อ. ทั้งสองฝ่าย ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ร้อง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลจังหวัดระยองที่พิพากษาลงโทษ ก. ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายว่า ศาลจังหวัดระยองพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจของ ก. และรายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวนแล้ว เห็นว่าเหตุเกิดจากความประมาทของ ก. และ อ. ร่วมกัน ดังนั้น คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าเหตุเกิดจากความประมาทของ ก. และ อ. ทั้งสองฝ่าย จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนั้นคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่า เมื่อใคร่ครวญโดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณแล้วเห็นควรให้ค่าสินไหมทดแทนเป็นพับ ก็เป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นกัน กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งต่อศาลฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: การโต้เถียงดุลพินิจพยานหลักฐานไม่กระทบความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อ้างว่าคำชี้ขาดไม่เป็นไปตามประเพณีการค้า และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน แต่เนื้อหาคำร้องเป็นเรื่องโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการโต้เถียงการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของอนุญาโตตุลาการ หาเป็นปัญหาที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง