คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (12

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักลดหย่อนผลขาดทุนสะสมทางบัญชีกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล: ผลขาดทุนสะสมทางบัญชีมิใช่ผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) ที่บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันมาหักเป็นรายจ่ายได้นั้น ตามแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล(ภ.ง.ด.50) ของโจทก์ ปรากฏว่าผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 65 ตรี (12) อยู่ในรายการที่ 5 (47) ว่าด้วยรายได้ รายจ่ายและกำไรหรือขาดทุนสุทธิ แต่ผลขาดทุนสะสมจำนวน 11,849,473.86 บาท ที่เจ้าพนักงานของจำเลยนำมาถือเป็นผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี นำมาปรับปรุงหักเป็นรายจ่ายให้แก่โจทก์ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528นั้นอยู่ในรายการที่ 6 (13) ว่าด้วยหนี้สินและทุน จึงเห็นได้ว่าเป็นการแยกต่างหากออกจากกันคนละรายการและเป็นคนละเรื่อง ทั้งในรายการที่ 5 (47) ก็ระบุเฉพาะแต่ผลขาดทุนสุทธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่างกับรายการที่ 6 (13)ได้ระบุถึงผลกำไรสะสมหรือขาดทุนสะสมคือมีทั้งกำไรหรือขาดทุน รายการที่ 6(13) นี้จึงเป็นเรื่องหนี้สินและทุนที่ยกมาทางบัญชี ผลขาดทุนสะสมตามรายการที่ 6(13) จึงมิใช่ผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร เพราะผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรนั้นต้องคำนวณตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี ซึ่งตามแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527ของโจทก์ก็ระบุว่าโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 จำนวน18,571,825.52 บาท อันเป็นผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำยอดเงินจำนวน 11,849,473.86 บาทที่โจทก์ระบุในรายการที่ 6 (13) อันเป็นผลขาดทุนสะสมทางบัญชีมาถือเป็นผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี และนำมาปรับปรุงหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 ของโจทก์นั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (1) โจทก์จะมีหน้าที่หักภาษีณ ที่จ่ายเมื่อมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้พนักงาน แต่กฎหมายดังกล่าวก็มิได้บังคับให้โจทก์มีหน้าที่ขอหลักฐานการชำระเบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยดังกล่าวจากพนักงานเพื่อนำมาแสดงต่อจำเลย อีกทั้งหลักฐานการชำระเบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหลักฐานที่บุคคลภายนอกออกให้แก่พนักงานโจทก์เพื่อเก็บไว้ใช้อ้างอิง มิใช่หลักฐานที่ออกให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เก็บหลักฐานดังกล่าวไว้แสดงต่อจำเลย หากจำเลยสงสัยว่าหลักฐานดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่จำเลยก็สามารถเรียกพนักงานโจทก์มาสอบปากคำหรือทำการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่พนักงานโจทก์ยื่นไว้แล้วต่อจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีผู้เสียภาษีไม่นำเอกสารหลักฐานมาตรวจสอบและเจ้าพนักงานประเมินใช้ดุลพินิจ
อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้แก่ผู้ฝากประจำระยะเวลา12 เดือน อัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปีนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ค้าเงินจ่ายให้แก่ผู้ฝากประจำ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกจากผู้กู้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดสำหรับการให้กู้ยืมเงิน เมื่อปรากฏว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โดยเสียดอกเบี้ยอัตราสูงถึงร้อยละ 21 ต่อปีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะยอมให้บุคคลอื่นกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี โดยยอมขาดทุนดอกเบี้ยเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)โดยประเมินในอัตราเดียวกันกับดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องจ่ายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์คงเหลือร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว
โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมกับชำระภาษีเงินได้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 และมาตรา 68 แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวว่าขาดทุนสุทธิเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตรงต่อความจริง จึงออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนและให้นำบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์ไปมอบให้ด้วย การที่โจทก์หลีกเลี่ยงไม่นำบัญชีและเอกสารไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนและเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 จำนวนเงินค่าภาษีที่โจทก์ต้องเสียตามที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บเพิ่ม จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งตามกฎหมายโจทก์จะต้องชำระอยู่แล้ว มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้ขาดทุนตามที่ยื่นรายการไว้ ดังนั้น โจทก์จะอ้างนำเอาผลขาดทุนสุทธิที่แสดงไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้รับรองและโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ฟังได้ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิดังที่อ้างนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหาได้ไม่
โจทก์ได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินให้ไปยังที่ทำการเพื่อรับการไต่สวนและให้นำบัญชีเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไปส่งมอบด้วย แต่โจทก์ไม่นำบัญชีและเอกสารดังกล่าวไปมอบให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำการไต่สวน เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามบทกฎหมายซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินด้วยวิธีดังกล่าวได้ เมื่อมิใช่เป็นการประเมินโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่า โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิที่แตกต่างไปจากที่ได้ยื่นรายการไว้เดิมอันเจ้าพนักงานประเมินจะต้องมีคำสั่งแจ้งการประเมินเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิให้โจทก์ทราบตามมาตรา 20 แห่ง ป.รัษฎากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ
โจทก์ไม่มีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2528 มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2531 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงต้องปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของโจทก์ใหม่ ตามหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิเพื่อให้โจทก์นำไปปฏิบัติสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไปให้ถูกต้อง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหนังสือดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินในเครือบริษัทและการนำผลขาดทุนสะสมมาหักลดหย่อนภาษี
โจทก์เป็นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย ได้โอนขายที่ดินให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ตามมติของคณะกรรมการโจทก์และคณะกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด พร้อมทั้งได้โอนสิทธิเรียกร้องกับหนี้สิน และโอนพนักงานของโจทก์ไปให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดด้วย โดยโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการ-ลงทุน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโอนทรัพย์สินในระหว่างบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วยกัน แม้จะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันแต่ก็มีส่วนได้เสียผูกพันกันอยู่ การโอนที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการโอนอันมีเหตุสมควรเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอน
รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2521 โจทก์ปรับปรุงโครงสร้างของการประกอบกิจการของโจทก์เพื่อดำเนินกิจการด้านการค้าต่างประเทศจึงโอนกิจการด้านการตลาดภายในประเทศ ทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งพนักงานของโจทก์ให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี-เงินได้ของโจทก์ ได้ระบุยอดขาดทุนสุทธิไว้ 10 ล้านบาทเศษ เมื่อโจทก์มีผลขาดทุนสุทธิสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ.2521 และมียอดยกมาในปีพ.ศ.2522 จำนวน 10 ล้านบาทเศษจริง โจทก์จึงมีสิทธินำผลขาดทุนสุทธิจำนวนนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพ.ศ.2522 ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (10)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งเสริมการลงทุน การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และการขอรับสิทธิเพิ่มเติม
โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.2505 เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 แต่โจทก์ยังคงได้รับการส่งเสริมการลงทุนกับได้รับสิทธิและประโยชน์ตามข้อ 37 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โดยโจทก์ได้รับสิทธิและประโยชน์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมีกำหนดห้ารอบระยะเวลาบัญชีการเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ต่อมามี พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ซึ่งได้ประกาศใช้และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.2505 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคหนึ่งให้สิทธิและประโยชน์อย่างเดียวกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.2505และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ซึ่งเป็นสิทธิและประโยชน์ที่โจทก์ได้รับอยู่แล้ว แต่มาตรา 31วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ได้บัญญัติถึงสิทธิและประโยชน์ขึ้นใหม่ ซึ่งโจทก์จะได้รับสิทธิและประโยชน์นี้หรือไม่ต้องพิจารณาตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนพ.ศ.2520 คือสิทธิของโจทก์มีอยู่อย่างใดตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกก็คงได้รับสิทธิและประโยชน์ต่อไปแต่สิทธิตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 กำหนดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 แต่การที่จะใช้สิทธิดังกล่าวต้องขอรับสิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เมื่อสิทธิและประโยชน์ในการนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสิทธิและประโยชน์ที่เพิ่งกำหนดขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 โจทก์จะได้รับสิทธิและประโยชน์ดังกล่าว โจทก์จะต้องขอรับสิทธิตามมาตรา 58 และจะต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา 31 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ขอรับสิทธิและประโยชน์ตามกฎหมาย โจทก์ก็ไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์ที่จะนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล