คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุภิญโญ ชยารักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงิน: อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไม่ขัดแย้งกับประกาศธนาคารและกฎหมาย แม้มีประกาศอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
หนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในหนังสือสัญญากู้เงินระบุ ความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้และผู้กู้ ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคาร ฯ สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด อัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามหนังสือสัญญากู้เงินไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว การทำสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์และจำเลยเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาและอยู่ในกรอบที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ และแม้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะมีประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าประกาศของโจทก์ไม่ได้ก็ตาม ก็ได้ความว่าในทางปฏิบัติจริง โจทก์คิดดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายในกรอบแห่งประกาศธนาคารโจทก์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3420/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณค่าเสียหายจากการปล้นทรัพย์: แก้ไขจำนวนยางพาราที่ยังไม่ได้คืนให้ถูกต้อง
ยางพาราแผ่นของผู้เสียหายที่ 1 ถูกคนร้ายปล้นเอาไป 9,500 กิโลกรัม ซึ่งตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืนและบัญชีของกลางคดีอาญาปรากฏว่า หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนยึดยางพาราแผ่นที่ถูกปล้นคืนมาได้รวม 3,169.5 กิโลกรัม มากกว่าจำนวน 2,987.5 กิโลกรัม ซึ่งเจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 212,307.50 บาท โดยคำนวณจากจำนวนยางพาราแผ่นที่ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้คืนตามฟ้อง 6,512.5 กิโลกรัม จึงเกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่พิจารณาได้ความ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 โดยคำนวณราคายางพาราแผ่นตามฟ้องได้กิโลกรัมละ 32.63 บาท ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้รับยางพาราแผ่นคืน 6,330.5 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนหรือใช้ราคายางพาราแผ่นที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เพียง 206,564.22 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชัดแจ้ง: การโต้แย้งหนี้ตามบันทึกข้อตกลงด้วยข้อตกลงทางวาจาที่ไม่ได้รับการรับฟัง
ฎีกาของจำเลยที่บรรยายว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยให้การรับว่าทำบันทึกข้อตกลงชำระหนี้แทนให้แก่โจทก์จริง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาให้จำเลยชำระหนี้น้อยกว่าที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง จำเลยจะมีพยานอื่นใดนำสืบเพราะเป็นการตกลงกันตัวต่อตัวระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีผู้ใดอยู่ร่วมรู้เห็นด้วย จำเลยยื่นคำให้การตามความเป็นจริงและปฏิบัติตามความเป็นจริงตามข้อตกลง เพราะเชื่อใจโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังคำให้การและอุทธรณ์ของจำเลยบ้าง จำเลยจึงเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงจำเป็นต้องฎีกา ขอศาลฎีกาได้โปรดบรรเทาและลดยอดหนี้ตามที่จำเลยยื่นคำให้การนั้น เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นใดด้วยเหตุผลอะไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาพิจารณาคำขอเรียกทายาทเป็นคู่ความหลังจำเลยมรณะ และการพิจารณาเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีตาม ป.วิ.พ.
จำเลยมรณะในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 43 การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอของโจทก์จึงถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกาเท่านั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำสั่งของศาลชั้นต้น ก็หามีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเลื่อนการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้รวลรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาก็ต้องถือว่าฎีกาของผู้คัดค้านเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคสอง มิใช่เป็นบทบังคับศาลให้ต้องจำหน่ายคดีเสมอไป และตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิขอให้เรียกบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำขอเรียกทายาทเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ และผลของการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
เมื่อจำเลยตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ที่ขอให้เรียกทายาทของคู่ความผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ เข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 43 การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอให้เรียกผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยของโจทก์ จึงถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกาเท่านั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ทำแทนศาลฎีกาเช่นนี้ ก็หามีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเลื่อนการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน: การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ใช่เบี้ยปรับ
ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 นะบุว่า ในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มึสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราคงที่หลังจากนั้นโจทก์จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะนั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นจึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงจึงชอบด้วยมาตรา 383
กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะมีพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานแล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับ เป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าเบี้ยประกันภัยเกิดเมื่อมีการจ่ายแทน การฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตจึงไม่ชอบ
ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดว่า หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนองและโจทก์ได้จัดการเอาประกันภัยเอง จำเลยยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายแทนไปมาชำระจนครบถ้วน ดังนี้หากโจทก์ยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันอัคคีภัยแทนจำเลย จำเลยก็ยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปทุก ๆ สามปี จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในหนี้อนาคตที่ยังมิได้เกิดมีขึ้นและขณะฟ้องยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้โจทก์ชนะคดีน้อยกว่าเดิมทั้งที่โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดเป็นเบี้ยปรับได้ ศาลลดเบี้ยปรับได้ตามความเหมาะสม และการฟ้องหนี้อนาคตทำไม่ได้
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 3 ปี หลังจากนั้นโจทก์จึงจะมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดเมื่อใดให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี เมื่อจำเลยผิดนัดซึ่งเป็นเวลา 1 ปีเศษ นับแต่วันทำสัญญากู้เงินอันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงิน ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัด โจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะนั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น จึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์ส่งเป็นพยาน แล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับจึงเป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้องหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และการโอนสิทธิที่ไม่สุจริต
การที่จำเลยและมารดาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ ป. เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อ ล. เข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. จำเลยก็ยังเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทตลอดมานั้น ถือได้ว่าจำเลยครอบครองแทนทายาทของ ป. ทุกคน เพราะยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่ทายาทโดยชัดเจน แต่เมื่อ ล. ดำเนินการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแก่ทายาทของ ป. มารดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ป. ปฏิเสธไม่ยอมรับที่ดินที่แบ่งแยกให้โดยยืนยันต่อทายาทอื่นๆ ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว จะไม่ยินยอมยกให้ใคร จึงเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยชัดเจนว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว และเมื่อภายหลังจาก ก. รับโอนที่พิพาทจาก ล. ผู้จัดการมรดกแล้ว ก. ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด กลับปล่อยให้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองตลอดมา เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทจาก ก. เกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ก. โดยรู้ดีว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตอันจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์ เป็นการทำให้จำเลยผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาคำสั่งระหว่างพิจารณา: โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาคำสั่งให้เสียค่าขึ้นศาลก่อนมีคำพิพากษา
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มให้ถูกต้องเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี และมิใช่คำสั่งตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 227 และ 228 แห่ง ป.วิ.พ. จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ยังไม่มีสิทธิฎีกา แม้โจทก์จะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องก็มีสิทธิเพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้ว หามีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไม่
of 30