คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ม. 2

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะสัญชาติไทยของผู้เกิดในไทยภายหลังมารดาถูกถอนสัญชาติ และการโต้แย้งสิทธิโดยเจ้าพนักงาน
ง. มารดาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อพ.ศ. 2493 จึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 มาตรรา 3 (3)ต่อมา ง.ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 14 ธันวาคม 2515 แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยขณะเกิด ง.มารดายังคงมีสัญชาติไทยอยู่จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 10 ที่บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา7 (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับด้วย
โจทก์ที่ 4 และที่ 5 แม้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลัง ง.มารดาถูกเพิกถอนสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 แล้วก็ตาม แต่ ง.เกิดในราชอาณาจักรไทยมิใช่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 กรณีของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะไม่ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 จึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508มาตรา 7 (3) เดิมก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมและไม่เสียสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ ที่แก้ไขใหม่เพราะโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีบิดาซี่งมิได้มีการสมรสกับมารดาเป็นคนสัญชาติไทย จึงไม่เข้ากรณีที่ต้องเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ยังคงมีสัญชาติไทย
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการญวนอพยพ และเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้ขอสูติบัตรของโจทก์คืน โดยอ้างว่าเป็นคนญวนอพยพและได้จัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยเพิ่มเติมชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ ทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย และสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุสัญชาติของโจทก์ว่าสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิสัญชาติ: การพิจารณาความเป็นไทยของบุตรจากมารดาที่ถูกถอนสัญชาติ และอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่มาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดย ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า"ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย" ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนต่างด้าวที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอดไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า "เข้ามา" กับคำว่า "อยู่"ออกจากกันเหมือนดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ใช้คำว่า "เข้ามาหรืออยู่" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กับที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรด้วย โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)เป็นกฎหมายที่มีลักษณะถอนสิทธิของบุคคลจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้น กรณีของนาง ท. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยแม้จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนาง ท. และเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้โจทก์ทั้งสามจะเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 2 โจทก์ทั้งสามจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) และไม่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)
แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนาย ส. เป็นจำเลยโดยไม่ได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬมาด้วยก็ตามแต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬแล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่ ปรากฏว่าเมื่อบิดาของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้.