คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 4 ทศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6610/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับดอกเบี้ยคืนภาษีอากรถูกระงับเมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและไม่ขอขยายเวลา
เจ้าพนักงานได้เรียกให้โจทก์ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมจากที่โจทก์เคยส่งพร้อมกับคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าโจทก์ได้ถูกหักหรือเสียภาษีเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่โจทก์จึงต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสาม ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรเมื่อโจทก์ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนด และโจทก์มิได้ขอขยายเวลาส่งเอกสารต่ออธิบดีซึ่งตามข้อ 2 วรรคท้าย ของกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสามโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งคือวันที่ 9 สิงหาคม 2536 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ส่งมอบเอกสารครั้งสุดท้ายให้แก่เจ้าพนักงานเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานระงับการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันออกหมายเรียกถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 จึงไม่ถูกต้องโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ส่งคืนให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 8สิงหาคม 2536 ด้วย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินภาษีการค้าจากประกาศผลักภาระให้ผู้ส่งออก และดอกเบี้ยตามประมวลรัษฎากร
โจทก์เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวออกจำหน่ายจึงเป็นผู้ประกอบการค้า และน้ำตาลทรายดิบเป็นสินค้าที่ระบุไว้ในบัญชีไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้า โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกรณีการขายน้ำตาลทรายดิบให้ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้า แม้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแต่เมื่อมีประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออก เท่ากับเป็นการเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ส่งออกจึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นให้แก่โจทก์ จังหวัดจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหน่วยงานที่บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนภูมิภาค การจัดเก็บภาษีอากรเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยตรง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินโจทก์ ปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ผู้รับเงินภาษีอากรคืนได้ดอกเบี้ยด้วยโดยไม่คิดทบต้น แต่มิให้เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงิน เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2524 ต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 27สิงหาคม 2524 เป็นต้นไป ให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนภาษีการค้ากรณีผลักภาระภาษีจากผู้ผลิตไปผู้ส่งออก และดอกเบี้ยที่ต้องชำระ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18)ซึ่งกำหนดหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในข้อ 3 ว่า ในกรณีการขายน้ำตาลทรายดิบ ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับนั้น แม้โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับแต่เมื่อกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ได้ประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออกต้องชำระภาษีเต็มในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับเสียแล้วเท่ากับจำเลยยอมเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ส่งออก จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีรายได้ท้องถิ่นที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จังหวัดจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหน่วยงานที่บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนภูมิภาคเท่านั้น ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยตรง จำเลยที่ 2 จึงหาต้องรับผิดคืนเงินภาษีแก่โจทก์ไม่ ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์หรือไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ผู้ต้องเสียภาษีมีสิทธิที่จะเรียกร้องดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ได้รับคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนภาษีการค้ากรณีจำเลยเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีจากผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออก และการคิดดอกเบี้ยเงินภาษีที่ได้รับคืน
โจทก์เป็นผู้ผลิตขายน้ำตาลทรายดิบให้องค์การคลังสินค้าภายในประเทศ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์เสียภาษีการค้า และตาม พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 บัญชีท้าย พระราชกฤษฎีกาบัญชีที่ 1 หมวด 1(7) แต่เนื่องจากได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18) เรื่องกำหนดหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อนละ 7 ของรายรับ ดังนั้น แม้โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ เมื่อจำเลยได้ประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออกต้องชำระภาษีการค้าในอัตราภาษีร้อยละ 7 ของรายรับเสียแล้ว เท่ากับจำเลยยอมเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออก จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้าให้โจทก์ ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับขณะโจทก์ต้องเสียภาษีอากรกำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 133(พ.ศ. 2516)ข้อ 1(2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเป็นต้นไป และเมื่อโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งไม่มากกว่าอัตราที่มาตรา 4 ทศ วรรคแรกกำหนดไว้จึงให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์ใน อัตราตามที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4467/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนภาษีการค้ากรณีผลักภาระภาษีจากผู้ผลิตไปผู้ส่งออก และการคำนวณดอกเบี้ย
โจทก์เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบออกจำหน่ายจึงเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า มีหน้าที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับตามบัญชีอัตราภาษีที่ใช้บังคับขณะนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78วรรคแรก และไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 มาตรา 5(8) เนื่องจากน้ำตาลทรายดิบเป็นสินค้าที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา บัญชีที่ 1 หมวด 1(7) แต่เนื่องจากได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18)เรื่องกำหนดหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 ข้อ 3 ให้ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7.0 ของรายรับ ดังนั้นแม้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแก่จำเลยในอัตราภาษีร้อยละ 7 ของรายรับ แต่เมื่อจำเลยได้มีประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออกต้องชำระภาษีเต็มในอัตราภาษีร้อยละ 7 ของรายรับเสียแล้ว เท่ากับจำเลยยอมเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ส่งออกจำเลยจึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับขณะโจทก์ต้องเสียภาษีอากรตามฟ้อง บัญญัติว่าให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยด้วยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 133(พ.ศ. 2516) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ที่ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1(2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งไม่มากกว่าอัตราที่มาตรา 4 ทศวรรคแรก บัญญัติไว้ จึงให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์ในอัตราตามที่โจทก์ขอแต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีการค้าสำหรับยาที่ต้องผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติมก่อนใช้ และการคำนวณดอกเบี้ยคืนภาษี
สินค้ายากานาไมซินซัลเฟตและเจนตาไมซินซัลเฟต แม้จะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคโดยไม่ต้องใส่ยาตัวอื่นเติม เข้าไป แต่เมื่อจะใช้ต้องไปทำตามกรรมวิธีด้วยเครื่องจักรในสถานที่ปราศจากเชื้อตลอดจนภาชนะและตัวผู้ทำก็ต้องปราศจากเชื้อด้วย เป็นการเอาไปผลิตใหม่เพื่อให้เป็นยาสำเร็จรูปใช้ได้ทันที จึงไม่เป็นยาซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรง ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 บัญชีที่ 3 หมวด 2(1) โจทก์จึงได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้านั้นตามมาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตามมาตรา 5 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1(2) ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 28พฤศจิกายน 2529 จึงครบระยะเวลาสามเดือนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์2530 และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2530เป็นต้นไป แม้ว่าตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตรามากกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลจึงพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศวรรคสอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายวัตถุดิบยาที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีอากร ศาลตัดสินให้คืนภาษีพร้อมดอกเบี้ย
บัญชีท้าย พ.ร.ฎ. ที่กำหนดเรื่องเภสัช ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงหรือรักษาอนามัยมีอยู่ในบัญชีที่ 3 หมวด (1) ว่ายาทุกชนิดซึ่งแพทย์หรือประชาชนนำไปใช้โดยตรงทั้งนี้เฉพาะที่ผลิตในราชอาณาจักร ตามบัญชีที่ 3 นี้กำหนดเฉพาะยาที่แพทย์หรือประชาชนนำไปใช้ได้โดยตรง แต่ยากานาไมซินซัลเฟต หรือเจนตาไมซินซัลเฟตมิใช่ยาที่จะนำไปใช้ได้โดยตรง จึงเป็นสินค้าที่มิได้ระบุไว้ในบัญชีทั้งสามท้าย พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงเทศบาลด้วย การคืนเงินภาษีอากรมาตรา 4 ทศ แห่ง ป.รัษฎากรให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยด้วยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน โดยไม่คิดทบต้นทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนและตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161(พ.ศ. 2526)ออกตาม ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1(2) กรณีคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1(2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัด จากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527 จึงครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530และต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ในวันที่ 1 มีนาคม 2530 เป็นต้นไป.