คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 229/1 วรรคสี่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, การสนับสนุนความผิด, เจตนา, ความผิดฐานยักยอก, การคืนทรัพย์
โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมหลายข้อ โดยข้อ 2 ให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เป็นโจทก์ร่วม และข้อ 6 ให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนตามความจำเป็นในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบหมาย จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ บ. ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมได้ โดยไม่จำกัดตัวบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดี และอำนาจของ บ. ดังกล่าวยังสามารถมอบอำนาจช่วงได้อีกด้วย ฉะนั้น การที่ บ. มอบอำนาจช่วงให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและเป็นโจทก์ร่วม จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยชอบภายในขอบอำนาจที่ บ. ได้รับมอบมา แม้ตามสำเนาหนังสือรับรองจะมีเงื่อนไขให้กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่การมอบอำนาจช่วงมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมีการประทับตราสำคัญของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมไม่ได้ระบุให้การมอบอำนาจช่วงต้องประทับตราสำคัญของบริษัทด้วย การมอบอำนาจช่วงโดยไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ช. ผู้รับมอบอำนาจช่วงย่อมมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกแทนโจทก์ร่วม มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความที่ได้รับแจ้งจาก ช. ว่า ช. มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เรื่อง กล่าวโทษดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ส. และจำเลยที่ 4 จากเหตุที่โจทก์ร่วมได้ขายรถแบ็กโฮ 2 คัน ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาไม่สามารถติดตามหารถแบ็กโฮที่ขายให้ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ไม่มีการส่งค่างวด ถูกผู้เช่าซื้อปฏิเสธ จึงมาลงบันทึกประจำวันไว้ดังกล่าว ร้อยตำรวจโท ป. พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้ง ช. เป็นผู้ดำเนินการแทนโจทก์ร่วมไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย แต่วันนี้ผู้แจ้งไม่พร้อมที่จะให้ปากคำและจะมาให้การในวันต่อไป ดังนี้ แม้พนักงานสอบสวนจะรับแจ้งไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน แต่พนักงานสอบสวนก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป และจากข้อความที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งบันทึกไว้ เมื่ออ่านประกอบกับหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ช. นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวนในการแจ้งความซึ่งระบุมอบอำนาจให้ ช. แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อให้ดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในฐานความผิดยักยอกหรือความผิดอาญาอื่นใดแล้ว พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้รับโทษ การแจ้งความของ ช. ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 หาใช่เป็นแต่การแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้โดยยังไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในเดือนกันยายน 2558 การที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ 3 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 96
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าคดีโจทก์ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ภายในอายุความตามกฎหมายแล้วดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้อง ทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารฉบับดังกล่าวรวมอยู่ในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ อันเป็นสรรพเอกสารตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 27 นั่นเอง เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยระบุไว้ชัดเจนว่าขอถือเอาบัญชีระบุพยานและสรรพเอกสารในคดีนี้ของโจทก์เป็นของโจทก์ร่วมด้วย กรณีถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์ร่วมจึงชอบที่จะนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ในการถามติงพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้เพื่อยืนยันถึงวันที่ที่แน่นอนซึ่งโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ได้ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลชั้นต้นซักถามร้อยตำรวจเอก ป. เพิ่มเติม หรือนำพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาสืบหักล้างในภายหลัง กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานในลักษณะจู่โจมทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีดังข้ออ้างในฎีกา ดังนั้น สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3