คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ม. 16 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3646/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การชดใช้ค่าเสียหาย และการปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมีข้ออ้างและคำขออย่างเดียวกันมาพร้อมกับฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งไปแล้ว การที่จำเลยยังคงฎีกาในประเด็นดังกล่าวโดยขอให้ศาลฎีกาส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและรอการพิพากษาคดีไว้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ในคำสั่งข้อ 6 เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเห็นว่าเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดแนวนโยบายการปฏิบัติงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินเท่านั้น คำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายอยู่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าทำประโยชน์ก่อนหรือหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยไม่อาจที่จะอ้างคำสั่งดังกล่าวว่าตนได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุมาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เพื่อลบล้างความผิดของจำเลยได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขณะนั้นจำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซี่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว การกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงชอบที่จะต้องนำ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาในส่วนนี้ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินสาธารณะ - เจตนา - ความสุจริต - การอนุญาตที่ไม่ชอบ - การนำสืบพยาน
พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังได้ไม่แน่ชัดว่าจำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครอง ที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ จำเลยจึงขาดเจตนา ในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ
พ. รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ทำขึ้นสำเนาเอกสารที่ พ. ซึ่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในภายหลังได้ส่งมาตามหมายเรียกของศาล โดยมีนักวิชาการป่าไม้ 6 กองอุทยานแห่งชาติรับรองสำเนาถูกต้องจึงอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคสอง แม้ พ. มิได้มาเบิกความก็ตาม
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า พ. ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นมีอำนาจโดยชอบในการที่จะอนุญาตให้สร้างบังกะโลบนเกาะเสม็ดได้จำเลยจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามฟ้อง
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณา คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินสาธารณะและเขตอุทยานฯ โดยสุจริตและมีคำสั่งอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ไม่แน่ชัดว่า จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิที่จะทำได้ จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ
คำสั่งอนุญาตให้จำเลยสร้างบังกะโลได้เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ยังมีข้อโต้เถียงกันจนต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เมื่อจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากรองอธิบดีกรมป่าไม้ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติ
ในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิด ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้นแล้ว นำมาฟังลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินในเขตอุทยานฯ: โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่หากไม่ได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปตัดต้นไม้และปลูกอาคารในที่ดินของโจทก์ ขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จำเลยได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ จำเลยอาศัยสิทธิของกรมป่าไม้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ที่ดินพิพาทเดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาได้มีพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยยื่นคำร้องขอกับที่ดินพิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติแล้ว การที่โจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แม้จะรับโอนมาจากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนนานเท่าใดก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครอง ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งมารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท.