คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ขวัญชัย ปิ่นรอด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องถูกจำกัดเมื่อประเด็นข้อพิพาทถึงที่สุดแล้วในคดีก่อน แม้คู่ความต่างกัน แต่สืบสิทธิ์กัน
คดีก่อน ส. เจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทเป็นโจทก์ฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยโดยมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง ส่วนคดีนี้แม้โจทก์และจำเลยจะเป็นคนละคนกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อนก็ตามแต่โจทก์ได้รับที่พิพาทมาจากโจทก์ในคดีก่อนโจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิ์มาจากโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยคดีนี้ต่างมีหน้าที่ดูแลสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนในประเด็นที่ว่าที่ดินแปลงพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง หรือไม่ และคดีก่อนถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้โจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษตามมาตรา 78 และการริบของกลาง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลล่างได้
ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ริบของกลางทั้งหมด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางดังกล่าวหรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองยังไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และการริบทรัพย์สินของกลางนี้ไม่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดและมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3071/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดของข้าราชการปฏิบัติหน้าที่: ความรับผิดของกรมในฐานะผู้แทนและขอบเขตการใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์สอนวิชาสุขศึกษาทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาและมีอาการเหนื่อยง่าย การที่จำเลยที่ 1 สั่งทำโทษผู้ตายซึ่งเป็นนักเรียนโดยให้ผู้ตายทำสก็อตจัมพ์(กระโดดขึ้นลง) จำนวน 100 ครั้ง จึงเป็นการสั่งทำโทษที่เกินกว่าเหตุ ทั้งขณะที่ผู้ตายทำสก็อตจัมพ์จำเลยที่ 1 ก็ไม่สนใจดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่า ผู้ตายจะรับการลงโทษดังกล่าวได้หรือไม่ และเมื่อผู้ตายทำสก็อตจัมพ์เสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ออกจากห้องเรียนไปโดยไม่สนใจดูแลว่าผู้ตายจะเป็นอย่างไร ผู้ตายมีอาการหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตาย
จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดินอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้าสอนในชั้นเรียนของผู้ตายและสั่งลงโทษผู้ตายจึงเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อ ความเสียหายนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 แต่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลจึงจัดอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง มิใช่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2993/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำรงชีพจากรายได้หญิงค้าประเวณี: จำเลยมีปัจจัยอื่นเพียงพอ จึงไม่ถือว่าดำรงชีพจากรายได้ดังกล่าว
จำเลยเป็นเจ้าของสถานค้าประเวณีโดยเปิดเป็นร้านอาหารอยู่ด้วย มีสุรา อาหารและเครื่องดื่มบริการขายแก่ลูกค้า และมีหญิงค้าประเวณีกินอยู่หลับนอนกับจำเลยในสถานที่ดังกล่าว แม้พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องได้รับเงินจากการค้าประเวณีซึ่งมีหญิงโสเภณีเป็นองค์ประกอบในการดำเนินกิจการของจำเลย รายได้ของจำเลยจึงได้จากลูกค้าที่มาเที่ยวมิใช่ได้จากหญิงที่ค้าประเวณีโดยตรง ประกอบกับจำเลยเป็นหญิงมีสามี สามีจำเลยประกอบกิจการขนส่งมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อใช้ในกิจการถึง 3 คัน ซึ่งแม้จำเลยจะไม่มีรายได้จากกิจการค้าประเวณี ก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการอาศัยสามี กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีปัจจัยอื่นหรือไม่มีปัจจัยอันเพียงพอสำหรับดำรงชีพ การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยดำรงชีพแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การพิจารณาบาดแผลและพฤติการณ์
การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก และน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และการโต้แย้งดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุก จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว ปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานขับรถประมาทและขับรถเข้าวงเวียนโดยไม่ลดความเร็วเป็นกรรมเดียวผิดหลายบท ศาลฎีกาแก้ไขโทษ
การที่จำเลยกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายและรับอันตรายสาหัส ตลอดจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายนั้น เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ขับรถเข้าใกล้วงเวียนโดยไม่ลดความเร็ว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษเรียงกระทงโดยแยกฐานขับรถเข้าใกล้วงเวียนโดยไม่ลดความเร็ว ออกต่างหากจากฐานขับรถโดยประมาทนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: บุกรุกเพื่อข่มขู่เป็นกรรมเดียว
จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักของผู้เสียหายก็เพื่อข่มขู่ผู้เสียหายให้ตกใจกลัวโดยใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหายที่ศีรษะและพูดขู่เข็ญผู้เสียหายว่าจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อข่มขู่ผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำผิดของจำเลยมาในฟ้องเป็น 2 ข้อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และแม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทำให้ไม่สามารถรอการลงโทษได้ แม้โจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง
การที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วจึงจะรอการลงโทษให้ไม่ได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วก็ตาม แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งระบุว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้ว เช่นนี้ ก็ไม่สามารถรอการลงโทษให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษคดีอาญาเดิมเข้ากับคดีใหม่ แม้โจทก์มิได้ขอ ศาลชอบที่บวกได้หากปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและจำเลยรับ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องโทษตามคดีอาญาดังกล่าวอีกคนละ 2 คดี ของศาลชั้นต้นจริง โดยใหรอการลงโทษไว้และภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้ในคดีก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มากระทำความผิดคดีนี้ เช่นนี้แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจ ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนเรื่องนั้นของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
of 5