คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 244 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8189/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยใช้เครื่องหมายแพร่หลายก่อนโจทก์จดทะเบียน
จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อ "TOT" เพื่อการติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายทั่วไป ขณะที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้คำว่า "TOT" จนเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และไม่ปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่สุจริตเช่นใดด้วย การที่จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า ในภายหลัง จึงไม่เป็นสาเหตุที่จะทำให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กลับเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และเป็นการมุ่งหวังให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่รัฐมีนโยบายให้จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ได้ประกอบกิจการโทรศัพท์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2497 อันเป็นเหตุให้รับฟังว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบาย โดยไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขัดต่อรัฐประศาสโนบายในประเด็นอื่นอย่างไร จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7233/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในอายุผู้เสียหาย: ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้แม้จำเลยมิได้อ้างเหตุนี้โดยตรง
แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุ 17 ปี ถึง 18 ปี ขึ้นต่อสู้โดยตรง แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7233/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา: การพิจารณาอายุผู้เสียหายจากรูปร่างและลักษณะภายนอก
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยสำคัญผิดเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุ 17 ปี ถึง 18 ปี ขึ้นต่อสู้โดยตรง แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215
ผู้เสียหายเป็นลูกครึ่งชาวไทยกับชาวต่างชาติ จากรูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายมีเหตุผลทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 จำเลยคงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคสาม เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4747/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่ไม่จดทะเบียน: การใช้ชื่อเสียงของบุคคลเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยมิชอบ
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "PELE" ซึ่งเป็นชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายของสาธารณชน จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบกับรูปประดิษฐ์ต่าง ๆ ไปจดทะเบียนการค้าเพื่อใช้กับสินค้าลูกฟุตบอลของจำเลยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองนับว่าเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง ในกรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังกล่าวอ้างอีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "PELE" แม้จะมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย แต่ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในความหมายของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ห้ามมิให้จดทะเบียน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อจำเลยยอมรับว่า จำเลยรู้จักโจทก์ที่สองในฐานะนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง การที่จำเลยนำชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 มาใช้กับสินค้าอุปกรณ์การกีฬาของจำเลยย่อมจะเป็นที่เล็งเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ชื่อสมญาของโจทก์ที่ 2 ในหมู่คนที่รู้จักชื่อสมญาดังกล่าวอย่างแพร่หลาย และทำให้จำเลยได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ที่ 2 โดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง การลวงขาย และการใช้ชื่อทางการค้าโดยไม่ชอบ
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนแบบเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์และคำว่า หยั่นหว่อหยุ่น ของโจทก์ โดยนำเอารูปรอยประดิษฐ์ตลอดจนสีสันในฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเพื่อใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันทำให้สาธารณชนผู้บริโภคเกิดความสับสนในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ดังนี้ ตามฟ้องดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการลวงขายนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการ เพียงแต่คล้ายกันเช่นอย่างที่ปรากฏในคดีนี้ก็ถือว่าเป็นการลวงขายได้แล้ว ที่สำคัญก็คือเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ฉะนั้น แม้ภาคส่วนอื่นๆ ในฉลากที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องได้ตามมาตรา 46 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำขอสิทธิบัตร: การคุ้มครองทั้งกรรมวิธีและผลิตภัณฑ์ภายใต้กฎหมายและอนุสัญญา TRIPs
เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ แล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ย่อมอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้หากการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่เป็นการเพิ่มเติมสาระสำคัญของการประดิษฐ์ โดยขอก่อนวันประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร และหากการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้กระทำหลังจากมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้ว ย่อมอาจขออนุญาตต่ออธิบดีในการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นได้ ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2522) ข้อ 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอที่อ้างว่าเป็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม และหากอธิบดีไม่อนุญาต คำสั่งของอธิบดีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้น และผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 คดีนี้โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไว้ แต่โจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องต่อศาลกลับเลือกดำเนินการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อถือสิทธิที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากตามคำขอรับสิทธิบัตรฉบับเดิม โจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยขอถือสิทธิในกรรมวิธีสำหรับเตรียมเกลือเบสซิลเลทของแอมโลไดปีน ส่วนคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่ เป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ที่ขอถือสิทธิในผลิตภัณฑ์เกลือเบสซิลเลทของแอมโลไดปีน กระบวนการในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่จึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ทั้งหมด
บทบัญญัติข้อ 70 (7) ของความตกลงทริปส์เพียงแต่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์สามารถแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อขอรับความคุ้มครองในการประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แต่เดิม แม้การประดิษฐ์ใหม่นั้นจะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติใดๆ ของความตกลงทริปส์ก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าประเทศไทยจะมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามความตกลงทริปส์นับแต่เมื่อใดก็ตาม การที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 20 ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรในสาระสำคัญและมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2)ฯ ไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรในสาระสำคัญ พระราชบัญญัติสิทธิบัตรทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงหาได้มีข้อความใดขัดหรือแย้งกับความตกลงทริปส์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเพิ่มเติมคำขอสิทธิบัตรและการยื่นคำขอใหม่ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ในฐานะผู้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โจทก์สามารถดำเนินการตามข้อ 22 ของกฎกระทรวง (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้ และหากการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้กระทำหลังจากมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์แล้ว โจทก์อาจขออนุญาตต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นได้ ในคดีนี้ โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2535 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคำขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลใด กรณีหาใช่ว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องยื่นคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่ไม่ เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ใหม่ซึ่งมีข้อถือสิทธิต่างไปจากเดิม กระบวนการตรวจสอบจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด ข้ออ้างที่ว่าการขอรับสิทธิบัตรใหม่เป็นการขอเพื่อเพิ่มเติมคำขอเดิมฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2979/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งเจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ หากเจ้าหนี้ไม่ได้รับแจ้งตามหลักเกณฑ์ แม้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนด ก็ยังสามารถรับคำขอได้
ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ ตามมาตรา 90/20 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ ทั้งยังต้องแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบตามมาตรา 90/24 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนให้เจ้าหนี้โดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากบ้านปิดและไม่ไปรับภายในกำหนด จึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยังไม่ได้รับประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในเรื่องดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนวันที่ 22 เมษายน 2547 ที่เจ้าหนี้อ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันถัดมา กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันในประเภทเดียวกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนถึงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าได้
เครื่องหมายการค้ารูปและคำว่า "ยาสตรีนิสิงเหจอมทอง" กับเครื่องหมายการค้าคำว่า "ยาสตรีสิงเห" มีการเรียกขาน และรูปลักษณะที่คล้ายกัน เมื่อเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนความแตกต่างอื่น เช่นคำว่า "จอมทอง" ก็มีขนาดเล็ก ไม่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า เช่นเดียวกับความแตกต่างของข้อความประกอบเครื่องหมายการค้าว่า "สำหรับช่วยในการอยู่ไฟ" และ "ยาแผนโบราณสำหรับแทนการอยู่ไฟ" รวมทั้งโบ และวงกลมประกอบด้านล่างซึ่งมีอักษรอยู่ภายในหาใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าได้ จึงมิใช่สาระสำคัญแห่งเครื่องหมายการค้าเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างของเครื่องหมาย, ประเภทสินค้า, เจตนาใช้, และความสับสนของสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าโจทก์ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันเขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาษาไทยและอักษรโรมันว่า "ไฮเออร์ HI-ER" มีความแตกต่างอยู่ที่เครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีทั้งภาษาไทยและอักษรโรมัน แม้การเรียกขานอาจจะมีส่วนเหมือนกัน แต่การเรียกขานย่อมขึ้นอยู่กับสินค้าว่าแต่ละคนจะเรียกขานสินค้าอย่างไร สินค้าโจทก์และจำเลยแม้จะจำพวกเดียวกัน แต่เป็นคนละประเภทเมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การจัดจำหน่าย คุณภาพ และราคาสินค้าของโจทก์ ซึ่งแตกต่างจากสินค้าของจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต มิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3), 13
of 25