คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 244 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายและการใช้โดยสุจริต
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง หมายความเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น แต่หากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ โดยศาลมิได้ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะกรณีปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์โต้แย้งว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55
เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์เป็นอักษรโรมัน เขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นภาษาไทยและอักษรโรมันเขียนว่า "ไฮเออร์ HI - ER" แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะมีอักษรโรมันเหมือนกันใน 2 ตัวแรก กับ 2 ตัวหลัง แต่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยรวมแล้วมีความแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย และมีขนาดที่ใหญ่เห็นได้ชัดเจนกว่าอักษรโรมันแม้การเรียกขานจะคล้ายกัน แต่โจทก์ได้ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าที่จะใช้กับเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว ทำให้สินค้ามิได้เป็นประเภทเดียวกัน ถึงจะยังมีความใกล้เคียงเป็นสินค้าในจำพวกเดียวกันอยู่ แต่โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทโดยสุจริตมิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอันจะพึงห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้าง การผ่อนปรนค่าปรับ และการมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายจากความล่าช้า
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 138 ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาระบุว่า หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น ร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงิน 370,000 บาท สัญญากำหนดค่าปรับตามสัญญาไว้วันละ 3,700 บาท จึงเท่ากับค่าปรับจำนวน 100 วัน เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน เพราะจำเลยที่ 1 เคยยินยอมให้ปรับได้มาก่อนแล้ว ทั้งที่จำเลยที่ 1 ทิ้งงานไปเนิ่นนานแล้วมิใช่จำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่อาจแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา จึงไม่มีเหตุให้โจทก์ต้องผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน การที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเสียภายในเวลาอันสมควร แต่ปล่อยปละละเลยไว้จนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควรเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควร เพราะโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้เครื่องหมายการค้า/บริการที่ไม่ทำตามแบบไม่เป็นโมฆะ หากเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิหลายประการในระบบที่ซับซ้อน
ตามมาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติให้สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน อันเป็นแบบแห่งนิติกรรม เมื่อไม่ทำตามแบบย่อมตกเป็นโมฆะ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้
โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "คาลเท็กซ์" และ "สตาร์มาร์ท" และได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ด้วย โจทก์เช่าที่ดินจากบุคคลภายนอกแล้วก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน แล้วได้ทำสัญญาการให้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าวระบุถึงข้อตกลงการให้สิทธิว่า โจทก์ให้สิทธิชนิดไม่ผูกขาดแก่จำเลยที่ 1 ที่จะดำเนินการในสถานีบริการน้ำมัน เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของโจทก์ โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าไปในที่ดินและใช้สถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งเครื่องมือภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญานี้ และตามสัญญาข้อ 5 ระบุถึงค่าธรรมเนียมในการดำเนินการที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตอบแทนแก่โจทก์ จากข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์เพียงตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ภายใต้ชื่อทางการค้าคำว่า "คาลเท็กซ์" ของโจทก์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่ 1 ต้องซื้อจากโจทก์มาจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันตามข้อสัญญาเป็นสินค้าของโจทก์เอง แม้จะมีการใช้เครื่องหมายการค้า "คาลเท็กซ์" ก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยโจทก์เองแล้วนำมาจำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไปเท่านั้น มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จัดหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาเอง แล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 1 นั้นโดยโจทก์อนุญาตอันจะถือเป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่อย่างใด สัญญาการให้สิทธิดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมัน จึงมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แม้จะไม่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการให้บริการร้านค้าเพื่อให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้าภายใต้เครื่องหมายบริการคำว่า "สตาร์มาร์ท" ของโจทก์ ซึ่งหากสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ทำตามแบบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง แต่ตามสัญญาดังกล่าวระบุข้อตกลงในการให้สิทธิโดยโจทก์เป็นเจ้าของระบบ "สตาร์มาร์ท" ซึ่งประกอบด้วย เครื่องหมายบริการ ชื่อทางการค้า สัญลักษณ์ การใช้สีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เครื่องมือ คู่มือการประกอบธุรกิจ โดยโจทก์ได้พัฒนาระบบดังกล่าวรวมถึงการกำหนดรูปแบบการจัดวาง การจำหน่ายสินค้า การขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ การส่งเสริมการขายและการโฆษณา การบริหารจัดการ และการฝึกอบรมพนักงานของผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ และโจทก์ตกลงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินกิจการร้านสตาร์มาร์ทในสถานีบริการน้ำมันของโจทก์โดยใช้ระบบของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์ สัญญานี้จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ให้สิทธิในระบบสตาร์มาร์ทแก่จำเลยที่ 1 หลายประเภท เพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนต่อการที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์ โดยเครื่องหมายคำว่า "สตาร์มาร์ท" เป็นเพียงสิทธิส่วนหนึ่งในสิทธิหลายประการในระบบสตาร์มาร์ทที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ประการอื่นนั้น คู่สัญญาได้แสดงเจตนาระบุชัดไว้แล้ว แสดงถึงพฤติการณ์ที่แยกได้ต่างหากจากสิทธิในการใช้เครื่องหมายบริการ ข้อตกลงส่วนอื่นจึงใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 173
คำว่า "สตาร์มาร์ท" นอกจากเป็นเครื่องหมายบริการของโจทก์แล้ว ยังเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ โดยในส่วนของข้อตกลงเกี่ยวกับชื่อทางการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้โดยโจทก์นั้น ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบแห่งนิติกรรม สัญญาที่เป็นการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย "สตาร์มาร์ท" จึงสมบูรณ์ ในส่วนของการอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำซ้อน: การฟ้องคดีล้มละลายที่มีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเดียวกันกับคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา ถือเป็นฟ้องซ้ำ
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 556/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653-655/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้มละลาย: การอุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด - เหตุหนี้สินล้นพ้นตัว - อำนาจฟ้อง - อายุความ - การส่งหมายเรียก
จำเลยโต้แย้งว่า ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม, 33 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 8 (4) (9) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ขอให้ศาลล้มละลายกลางส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งในคำร้องของจำเลยเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา
ปัญหาที่ว่าหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 ซึ่งถือว่าจำเลยได้รับแล้วในวันปิดนั้นเองตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม จำเลยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามกฎหมาย ระยะเวลาที่โจทก์มีอำนาจใช้วิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือวันที่ 23 มีนาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 มีนาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดี
เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียก ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 32 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับชำระหนี้ภาษีอากรล่าช้าในคดีฟื้นฟูกิจการ: เหตุสุดวิสัยและพฤติการณ์พิเศษ
ขณะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ลูกหนี้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 28 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติ ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่ง ณ วันที่ 25 ธันวาคม ให้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดที่ให้แก่ลูกหนี้แล้ว กรณีจึงถือได้ว่าลูกหนี้ไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้นและต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 55 ดังนั้น มูลค่าหนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้ทั้งสองแจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ชำระและนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นจึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งสองอาจนำมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนแล้ว เจ้าหนี้ทั้งสองมิได้รับแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อเจ้าหนี้ทั้งสองในบัญชีเจ้าหนี้ กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้แล้วว่า เป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ทั้งสองไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/36 และเจ้าหนี้ทั้งสองได้เร่งดำเนินการไปตามขั้นตอนปฏิบัติราชการเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการภายในเวลาอันสมควรภายหลังจากทราบว่าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว กรณีจึงมีเหตุผลสมควรที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้สิทธิไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ แม้ข้อสัญญาบางส่วนเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเป็นโมฆะ
แม้ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการที่ไม่ทำตามแบบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จะตกเป็นโมฆะ แต่ในสัญญาข้อ 24 ยังมีข้อความอีกว่า หากสัญญานี้ข้อใดข้อหนึ่งตกเป็นโมฆะหรือไม่อาจบังคับได้ ให้ถือว่าสัญญาข้ออื่นยังคงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับต่อไปได้ เห็นได้ว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาจะใช้ประโยชน์จากสัญญาข้ออื่นหรือต้องการให้มีผลบังคับได้แยกต่างหากจากข้อสัญญาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ตกเป็นโมฆะ การที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตกเป็นโมฆะจึงไม่ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้าและการจำหน่ายสินค้าละเมิด ศาลแก้ไขโทษปรับให้เหมาะสมกับความเสียหาย
มาตรา 3 วรรคสอง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ให้ใช้มาตรา 109 และ 110 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวแทนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 274 และการปฏิบัติต่อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา 275 แห่ง ป.อ. แล้ว ในการปรับบทกฎหมายจึงไม่ต้องอ้างบทบัญญัติในมาตรา 274 และ 275 แห่ง ป.อ. อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า: ศาลแก้ไขบทลงโทษ โดยใช้เฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า แทนการอ้างอิงประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และ 110 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 และ 275 แต่มาตรา 3 วรรคสอง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ใช้มาตรา 109 และ 110 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 274 และการปฏิบัติต่อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา 275 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ในการปรับบทกฎหมายจึงไม่ต้องอ้างบทบัญญัติในมาตรา 274 และ 275 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: วันที่โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาหรือหนังสือพิมพ์รายวัน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 28 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า "วันโฆษณา" ตามมาตรา 91 หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คดีนี้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป ซึ่งจัดพิมพ์แล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้กับสมาชิกที่ไปรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ส่วนงานราชกิจจานุเบกษาด้วยตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ดังนี้ จึงฟังได้ว่าวันที่ 14 สิงหาคม 2545 เป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปยังสาธารณชน กำหนดเวลา 2 เดือน จึงเริ่มต้นนับแต่วันดังกล่าวโดยจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91
คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้สอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ตามมาตรา 105 แต่มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ต่อศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 146 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงอ้างส่งหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแล้วนำมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 25