คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขัดทรัพย์ไม่ใช่คำสั่งที่ไม่รับคำคู่ความ การอุทธรณ์ต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินเฉพาะส่วน โดยแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน พร้อมกับขอให้กันส่วนที่ดินเฉพาะส่วนซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องออกจากที่ดินก่อนมีการขายทอดตลาด แม้ตามคำร้องจะใช้คำว่าขอให้กันส่วนที่ดินของตน แต่จากเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องประสงค์ขอให้ปล่อยที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่ครอบครองเป็นสัดส่วนก่อนมีการขายทอดตลาด อันเป็นการร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 วรรคหนึ่ง ซึ่งถือเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเท่ากับว่าได้ยื่นคำฟ้องต่อศาล อันมีผลให้คดีร้องขัดทรัพย์เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 173 วรรคสอง โดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องเสียก่อน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งว่า คำร้องขัดทรัพย์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวน ให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องจึงจะมีคำสั่งคำร้องโดยให้ผู้ร้องชำระให้ครบถ้วนภายใน 7 วัน แสดงว่าคำร้องของผู้ร้องยังคงมีอยู่ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่และให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลแล้วให้ตั้งสำนวนเป็นคดีร้องขัดทรัพย์ก็เป็นเพียงคำสั่งเกินเลยจากคำแถลงของผู้ร้องที่ขอชำระค่าขึ้นศาลตามราคาประเมินเท่านั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนและคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ฉบับใหม่ จึงมิใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ซึ่งผู้ร้องต้องทำคำโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8546/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาซื้อขายข้าว, ฟ้องซ้อน, การเป็นผู้ประกอบการค้า
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรม หรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี" ซึ่งความหมายของผู้ประกอบการค้า นอกจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทำการซื้อขายสินค้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระเพื่อหวังผลกำไรในทางการค้าด้วย โจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถจำนำข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทางหนึ่งก็คงเป็นเพราะเพื่อลดภาระในการดูแลรักษาข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ซึ่งฝากไว้ในโกดังเก็บข้าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถขายข้าวเปลือกดังกล่าวไปได้ ดังนั้นการขายข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้มุ่งหวังกำไรเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าในอันที่จะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มาใช้บังคับ เมื่อกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ
คดีอาญาเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฐานยักยอกทรัพย์คือข้าวเปลือกที่จำเลยทั้งสองรับฝากไว้ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซื้อข้าวเปลือกจากโจทก์และยังคงค้างชำระราคาข้าวเปลือก จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระราคาข้าวเปลือกที่ยังคงค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับในคดีอาญาและคดีนี้เป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องผิดสัญญา การโต้แย้งสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเป็นเรื่องของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ เพราะมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5858/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อจำเลยบางส่วนไม่ได้ตั้งทนาย และฟ้องซ้อนเรื่องสินสมรส
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตั้ง ป. เป็นทนายความให้มีอำนาจใช้สิทธิในการฎีกาได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่เคยตั้งให้ ป. เป็นทนายความมาแต่แรก ฎีกาทำเป็นฉบับเดียวลงชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ฎีกา โดยมี ป. ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ ฉะนั้น แม้ฎีกาฉบับนี้จะระบุชื่อของจำเลยที่ 2 ไว้ในฎีกาหน้าแรกว่าเป็นผู้ที่ขอยื่นฎีกาด้วยก็ตาม กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น จึงไม่ชอบ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เท่านั้นฎีกา
แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 104/2555 เรื่องขอแบ่งสินสมรสเป็นที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 191/2553 หมู่ที่ 7 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนาง น. แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโต้แย้งขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอแบ่งที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ น. เป็นที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 96/2553 หมู่ที่ 5 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แต่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรโต้แย้งว่ามีสิทธิครอบครอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง แม้การฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดี เป็นการขอให้แบ่งที่ดินต่างแปลงกัน แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยการยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินสมรส คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 104/2555 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5546/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องสอดเป็นฟ้องซ้อนเมื่อสิทธิที่อ้างฟ้องมีคดีเดิมแล้ว
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องตั้งสิทธิเข้ามาในฐานะเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ เพื่อขอให้ศาลรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอด จึงเป็นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เมื่อสิทธิที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าถูกโจทก์โต้แย้งนี้ ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลไว้ก่อนแล้ว คดีอยู่ระหว่างพิจารณา คำร้องสอดของผู้ร้องสอดจึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6283/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีภาษีอากร: การฟ้องคดีเดิมซ้ำในขณะที่คดีเดิมยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 319/2547 ของศาลภาษีอากรกลาง เป็นการขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน คู่ความเดียวกันและคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีกไม่ได้ ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
อุทธรณ์ของโจทก์คดีนี้เป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นพิพาทข้ออื่นอีกกับขอให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นต่อไป มิได้ขอให้ชนะคดีตามฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จำนวน 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีแรงงาน: การฟ้องเรียกค่าตอบแทนจากกองทุนเกษียณอายุซ้ำ หลังฟ้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไปแล้ว
โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกเงินค่าตอบแทนตามกองทุนเกษียณอายุในการจ้างโดยกล่าวในคำฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและไม่เป็นธรรม อันเป็นมูลคดีเดียวกับคดีก่อนซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินสะสม ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9638/2545 ของศาลแรงงานกลาง ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีหมายเลขแดงที่ 9638/2545 ของศาลแรงงานกลางยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าตอบแทนตามกองทุนเกษียณอายุในการจ้างที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลย ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อน แต่โจทก์มิได้ฟ้องรวมไปในคดีก่อน กลับมาฟ้องใหม่ในคดีนี้อีกโดยอาศัยเหตุแห่งการเลิกจ้างคราวเดียวกันในระหว่างที่คดีก่อนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คำร้องสอดเป็นฟ้องใหม่เมื่อมีคดีเดิมอยู่แล้ว
การไต่สวนคำร้องขอฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาเป็นกระบวนพิจารณาในศาล เมื่อผู้ร้องยื่นฟ้อง โจทก์ทั้งสี่และคดีอยู่ในระหว่างไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ถือว่าเป็นคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (8) และ 173 วรรคสองแล้ว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก่อนแต่อย่างใด
ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีเป็นการตั้งสิทธิในฐานะคู่ความฝ่ายที่สามและเป็นปฏิปักษ์แก่โจทก์ทั้งสี่ และจำเลย คำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้อง และผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ เมื่อสิทธิที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกโจทก์ทั้งสี่ กับจำเลยโต้แย้งนี้ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นคดีต่อศาลไว้แล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา คำร้องสอดของผู้ร้อง จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คำร้องสอดเป็นคำฟ้องใหม่ หากมีคดีเดิมที่สิทธิโต้แย้งกันแล้ว
กรณีผู้ร้องยื่นคำฟ้องต่อศาลก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและเป็นการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(8)เมื่อคดีอยู่ในระหว่างไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก็ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง แล้วโดยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก่อน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีโดยอ้างสิทธิว่า ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่จำเลยนำไปขายฝากโจทก์ทั้งสี่เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันซื้อมาผู้ร้องจึงมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธินำที่ดินและบ้านพิพาทไปขายฝากโจทก์ทั้งสี่นั้นเป็นการตั้งสิทธิของผู้ร้องเข้ามาในคดีในฐานะคู่ความฝ่ายที่สามและเป็นปฏิปักษ์แก่โจทก์ทั้งสี่และจำเลย หาใช่เข้ามาเพียงเป็นจำเลยต่อสู้คดีกับโจทก์ทั้งสี่โดยเฉพาะไม่ ซึ่งถ้าศาลรับคำร้องสอดของผู้ร้องไว้ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยก็ต้องให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้อง คำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้อง และผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นโจทก์หาใช่เป็นจำเลยไม่ เมื่อสิทธิที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยโต้แย้งนี้ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นคดีต่อศาลไว้แล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาคำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนทางแพ่ง: คำขอส่วนแพ่งในคดีอาญาครอบคลุมดอกเบี้ย จึงห้ามฟ้องเรียกค่าเสียหายซ้ำ
คำขอของโจทก์ในคดีอาญาก่อนคือการคืนหรือให้ใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นคำขอส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลในคดีอาญามีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาได้ และเมื่อศาลในคดีอาญาได้รับคำขอส่วนแพ่งของโจทก์ ดังกล่าวไว้พิจารณาโดยชอบแล้ว ย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)ที่ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก แม้ในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์มิได้มีคำขอในคดีอาญา ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนี้เป็นดอกผลที่เกิดตามเงินต้นตามกฎหมาย การฟ้องร้องขอบังคับในส่วนดอกเบี้ยจึงอาศัยและพึงต้อง ฟ้องมาในคราวเดียวกัน จึงต้องห้ามตามคำฟ้องในส่วน เงินต้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5882/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขัดทรัพย์คือฟ้องคดี: ค่าขึ้นศาลต้องเสียตามราคาทรัพย์, คำสั่งระหว่างพิจารณาห้ามอุทธรณ์ฎีกา
คำร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 ถือเป็นคำฟ้องตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 1(3)เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวก็เท่ากับ ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาล อันมีผลทำให้คดีร้องขัดทรัพย์เป็นคดี ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 173 วรรคสอง โดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอเสียก่อน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม อย่างคดีมีทุนทรัพย์ แล้วจึงจะพิจารณาสั่งคำร้องขอ ของผู้ร้องนั้น จึงเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ร้องอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา เมื่อผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์และโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนี้ ศาลก็มีอำนาจสั่งให้คู่ความเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มในส่วนที่ยังขาดหรือสั่งคืนในส่วนที่เสียเกินได้โดยไม่ต้องให้คู่ความขอ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งในระหว่างพิจารณาของผู้ร้องและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้นั้น จึงไม่ถูกต้องจำเป็นต้องยกเลิกเพิกถอนแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เสียใหม่ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
of 5