พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การลอกเลียนที่ทำให้สาธารณชนสับสน และสิทธิของผู้มีเครื่องหมายการค้าที่ใช้ก่อน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า"DIMETAPP" กับของจำเลยคำว่า"MEDITAPP" ต่างก็เป็นคำของภาษาต่างประเทศพิมพ์ด้วยอักษรโรมันลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่อย่างเดียวกัน สำเนียงอ่านออกเสียงคล้ายกันตัวอักษรมีจำนวนเท่ากัน ถ้าไม่สังเกตจะเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์และของจำเลยเป็นอย่างเดียวกัน เพราะอักษรทุกตัวเหมือนกันเพียงแต่สลับคำพยางค์หน้า 2 คำ เท่านั้น และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวก 3 เช่นเดียวกับของโจทก์แม้จะระบุรายการสินค้าว่า ยาแก้หวัด แต่ในข้อบ่งใช้ที่ยา ของจำเลยก็ระบุว่าเป็นยาบรรเทาอาการแพ้ เช่น แพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้หืด เป็นต้น เช่นเดียวกับยาของโจทก์ ทั้งยาของโจทก์ จำเลยต่างก็เป็นยาเม็ดและยาน้ำด้วยกัน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ นำไปจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจนถึงนับได้ว่า เป็นการลวงสาธารณชน ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 16 คำว่า "TAPP" แม้จะฟังว่าอักษร "TA" ย่อมาจากคำว่า"TABLET" และอักษร "PP" เป็นชื่อย่อของสารเคมี 2 ชนิดแต่เมื่อนำอักษรดังกล่าวมารวมกันเป็นคำว่า "TAPP" จึงจัดว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 หาใช่ชื่อสามัญหรือสิ่งใดที่ใช้กันสามัญในการค้าขายซึ่งต้องห้ามถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่ง แห่งเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันไม่ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่นำไปจดทะเบียนจะไม่เหมือนเพียงแต่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์และโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีตามสิทธิของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเพราะโจทก์ได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของโจทก์ผลิตออกจำหน่ายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ายาของจำเลยเป็นเวลาหลายปี โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยลอกเลียนนำไปจดทะเบียนดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ตามมาตรา 41(1)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474.