คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 42 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของตัวแทน, อายุความละเมิด, และความรับผิดของผู้ละเวรยาม
ขณะโจทก์ฟ้องอธิบดีกรมโจทก์ไปราชการต่างจังหวัด รองอธิบดีกรมโจทก์เป็นผู้รักษาการแทนอธิบดีย่อมมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนโจทก์ได้เช่นเดียวกับอธิบดีตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายนพุทธศักราช 2515 ข้อ 42 วรรคสอง และข้อ 44 วรรคแรก รองอธิบดีจึงมีอำนาจลงนามในใบแต่งทนายความให้ฟ้องได้โดยมิต้องมีการมอบหมายจากอธิบดี ผู้แทนของกรมโจทก์คืออธิบดี จังหวัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกรมโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมิใช่ผู้แทนของโจทก์ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ถึงตัวผู้ทำละเมิดนั้นจะถือว่าโจทก์รู้ยังไม่ได้ อธิบดีกรมโจทก์ได้รู้ถึงตัวผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีหน้าที่อยู่เวรยาม แต่ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปราชการที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 จึงไปราชการโดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าเวรทราบตามระเบียบซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดไม่สามารถอยู่เวรวันใดได้ให้แจ้งหัวหน้าทราบ จึงไม่มีการจัดเวรยามอยู่รักษาการณ์ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ถูกคนร้ายลักไป การที่จำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องมีตามที่กำหนดไว้โดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 จัดเวรยามแทนในเมื่อตนจะต้องไปราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่อาจมาอยู่เวรยามตามกำหนด จึงเป็นเหตุโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นของโจทก์ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย