พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีโดยมิชอบตามมาตรา 71(1) และ 87 ทวิ(7) แห่งประมวลรัษฎากร
บทบัญญัติตามมาตรา 87 ทวิ(7) เดิม แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าชำระภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ยื่นแบบแสดงรายการค้าในเดือนที่ล่วงมาแล้วซึ่งหมายถึงในเดือนที่ถึงกำหนดชำระแล้ว เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบพบภายหลัง จึงมีอำนาจกำหนดรายรับโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 87 ทวิ(7) เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้าในเดือนที่ล่วงมาแล้วหรือที่ถึงกำหนด ชำระแล้วนั้นได้ หาใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าในเดือนที่ผู้ประกอบการค้ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการค้าไม่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจ้าพนักงานได้กำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2526 โดยให้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการการค้า แสดงรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 87,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2526 เป็นต้นไป จึงเป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำ ไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าให้จำเลยชำระเป็นการขัดต่อมาตรา 87 ทวิ(7) ประกอบกับในขณะเกิดเหตุคดีนี้พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 25 ที่บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 86 เบญจ ยังไม่ใช้บังคับซึ่งตามมาตรา 86 เบญจเป็นเรื่องให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีการค้าของผู้ประกอบการค้าบางประเภทไว้หาใช่เป็นเรื่องที่ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ประกอบการค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ การที่ผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ประกอบการค้ามา ตรวจสอบไต่สวนได้ตามมาตรา 87 ตรี(เดิม)แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อผู้ประกอบการค้าไม่ปฎิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมิน ตามมาตรา 87(3) แต่เจ้าพนักงานประเมินต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 ทวิ(7) เมื่อปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยอาศัยยอดรายรับขั้นต่ำที่กำหนดล่วงหน้า โดยมิชอบดังกล่าว เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าที่จำเลยจะต้องชำระ จึงมิใช่เป็นการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 ทวิ(7) การประเมินของเจ้าพนักงานจึงไม่ชอบ ดังนั้น การที่จำเลยได้รับแจ้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าจากเจ้าพนักงานประเมินแล้วไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยยอมรับการกำหนดรายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้ว่าถูกต้องเนื่องจากการกำหนดรายรับขั้นต่ำของเจ้าพนักงานประเมินกระทำไปโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่จำต้อง โต้แย้งคัดค้าน และอุทธรณ์การประเมินแต่อย่างใด ประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ซึ่งบัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ยื่นรายการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิหรือไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ถ้ายอดรายรับก่อนหักรายจ่ายหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายดังกล่าวไม่ปรากฎ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยอาศัยเทียบเคียงกับยอดในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนั้นขึ้นไป ถ้ายอดในรอบระยะบัญชีก่อนไม่ปรากฎ ให้ประเมินได้ตามที่เห็นสมควร" ซึ่งตามมาตราดังกล่าวหาได้กำหนดให้นำมาตรา 87 ทวิ(7) มาใช้บังคับด้วยไม่ ทั้งรายรับขั้นต่ำของจำเลยตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดไว้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินให้ถือเอารายรับขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้สำหรับกิจการของจำเลยเพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้ามาเป็นยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ นั้น ไม่ต้องด้วย มาตรา 71(1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีการค้าเกินกำหนด 5 ปี และการลดหย่อนเงินเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
รายจ่ายส่วนลดที่โจทก์อ้าง ผู้ซื้อที่ดินชำระเกินมาเนื่องจากที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินส่วนลดประกอบการลงบัญชีโดยให้ผู้รับส่วนลดเช็นต์ชื่อเป็นหลักฐานประกอบ จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายเองต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) รายจ่ายส่วนตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการ และของบริษัทในเครือรวมทั้งหุ้นส่วนอื่น ๆ เป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เนื่องจากเป็นรายจ่ายของบุคคลอื่น จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ส่วนรายจ่ายค่ารับรองเกินสมควรและรายจ่ายค่าธรรมเนียมที่ดินของบุคคลอื่นไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวมิใช่รายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)(4)(9)(13) และ (18) ตามที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3)(4)(9)(13) และ (18) ซึ่งโจทก์ได้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิโดยไม่ชอบ สำหรับรายจ่ายค่าการกุศลที่เกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธินั้นเมื่อโจทก์ยอมรับว่ารายจ่ายการกุศลเกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิจริงข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวต้องห้ามมิให้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (6) ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินยอมรับว่าค่าจ้างแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ในปี2518 ถึง 2520 นั้น โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ กับเบิกความยอมรับในชั้นศาลว่า โจทก์คงหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนของลูกจ้างประจำในปี 2518 ถึง 2522 และนำส่งให้แก่จำเลย ส่วนค่าแรงงานลูกจ้างรายวันนั้นโจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงยอมให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากค่าแรงงานส่วนนี้ในอัตราร้อยละ 3เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ค่าจ้างแรงงานรายวันเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราดังกล่าวตามความยินยอมของผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงถือได้ว่า โจทก์พอใจตามการประเมินนั้นแล้วโจทก์จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้อีกไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246,247 และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง พ.ศ. 2528 มาตรา 29 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 ไว้เกินไปกว่าจำนวนที่ปรากฎในบัญชีโจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าในปี 2520 และปี 2522แต่เจ้าพนักงานประเมินกลับประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(3) เป็นเงินเบี้ยปรับ 6,405 บาท และเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิเป็นเงินจำนวน 128,034.73 บาท จึงเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีจำนวนภาษีการค้าที่ต้องเสียเนื่องจากเหตุเสียคลาดเคลื่อนน้อยไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522แล้ว ก็ย่อมจะไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอีกเมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้นำรายรับตามที่โจทก์ลงไว้ในสมุดเงินสดไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2522 แก่จำเลยไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินคงตรวจพบแต่เพียงว่า รายรับของโจทก์สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2522 ตามสมุดเงินสดนั้น คลาดเคลื่อนต่อความจริงกล่าวคือรายรับบางส่วนเป็นรายรับของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องนำรายรับที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงรายการในแบบรายการการค้าของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แล้วประเมินภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 หาใช่เหตุที่จะมาประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จึงไม่ถูกต้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 โจทก์จึงอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวให้ดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานประเมินที่อาจจะใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินกำหนดจำนวนเงินเพิ่มตามอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 29 และ 30 ตามลำดับ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าอัตราเงินเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้ใช้ดุลพินิจกำหนดไว้และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเหมาะสมแล้ว หรือหากไม่เหมาะสมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปจำนวนมากและไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนโดยยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากค่าแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ได้ในอัตราร้อยละ 3 เป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบไต่สวนจึงมีเหตุสมควรลดเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 10 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 คงวางเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้นมิได้วางเกณฑ์ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาต่อศาลจะอ้างเหตุตามบทกฎหมายบทอื่นเพื่อชี้ว่าการประเมินภาษีการค้าสำหรับรองระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ดังนั้นโจทก์จึงยกข้ออ้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(1) ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลได้ แม้จะมิได้ยกเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แต่ต้นก็ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ตรี เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือพยานกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้ หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ทั้งมิได้กำหนดให้ทำการประเมินหลังจากออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนแล้วภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่มีประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิบัญญัติว่า การประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (1) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า (1) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้ออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนหรือไม่ การประเมินก็จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฎว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2517 ถึงปี 2521พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ (1) และมิใช่กรณีโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า อันจะทำการประเมินได้ภายในสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีล่วงหน้าต้องก่อนกำหนดเวลายื่นรายการ การประเมินหลังกำหนดเวลาเป็นโมฆะ
การประเมินเรียกเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ทวิจะต้องประเมินก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 17และมาตรา 84 เว้นแต่อธิบดีหรือรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรตามความจำเป็นให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 3 อัฏฐการที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลย ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าดอกเบี้ยค้างรับที่เกิดขึ้นสำหรับวันที่ 1 มกราคม 2527ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 จากโจทก์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2531จึงเป็นการประเมินหลังจากพ้นกำหนดเวลายื่นรายการการค้าสำหรับเดือนภาษีในปี พ.ศ. 2527 และ 2528 เป็นการประเมินย้อนหลังมิใช่กรณีประเมินล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการ ทั้งไม่ปรากฏว่ารอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2527 และ 2528 ได้มีประกาศของอธิบดีหรือรัฐมนตรีให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการแต่อย่างใด การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมิชอบขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 18 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษี: การยินยอมปฏิบัติตามและอายุความ 10 ปี กรณีแสดงรายรับขาดเกิน 25%
หมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินให้เวลาโจทก์ฟ้องน้อยกว่า 7 วัน โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับยินยอมปฏิบัติตามหมายเรียกตลอดจนร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนตลอดมาจนกระทั่งเสร็จสิ้นและเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินแล้วโจทก์มากล่าวอ้างว่าหมายเรียกดังกล่าวไม่ชอบภายหลังหาได้ไม่ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า แสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(2).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511-5512/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลซ้ำซ้อนเกิน 5 ปี และการประเมินภาษีการค้าเกิน 10 ปี หลังการยื่นแบบแสดงรายการ
เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์ครั้งเดียวภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า และเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งประเมินให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้ว โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ถือว่าการเรียกตรวจสอบไต่สวนตามหมายเรียกดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินมาแจ้งประเมินครั้งที่สองโดยมิได้ออกหมายเรียกมาไต่สวนใหม่ภายในกำหนด 5 ปีนั้นจึงเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มไม่ถูกต้องเพราะโจทก์มิได้มีรายรับจากการค้าเพิ่มการที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าเพราะโจทก์มิใช่ผู้ประกอบการค้าในฐานะผู้ผลิตตามคำสั่งของกรมสรรพากร ที่ ป.4/2527จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง อันมิใช่ข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 24 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 โจทก์ลงลายรับเฉพาะจำนวนที่ได้รับจากลูกช่วงทำไม้หลังจากหักค่าจ้างออกแล้วเป็นการลงรายรับเฉพาะส่วนที่เป็นกำไรเท่านั้นเจ้าพนักงานคิดคำนวณปริมาตรไม้แล้วปรับปรุงบัญชีรายรับของโจทก์ตามราคาที่ขายตามหลักฐานที่ตรวจสอบได้ไม่เป็นการคำนวณรายรับที่ไม่ถูกต้อง ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับของโจทก์ที่เจ้าพนักงานตรวจสอบได้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดยื่นแบบแสดงรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ(2).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4114/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดรายรับขั้นต่ำทางภาษี ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตาม การประเมินภาษีเป็นโมฆะ
เจ้าพนักงานสรรพากรส่งแบบ ภ.ค.45 ไปให้โจทก์ แต่หนังสือดังกล่าวไม่ถึงโจทก์เพราะระบุเลขบ้านผิด เห็นได้ว่า การกำหนดรายรับขั้นต่ำที่พิพาทคดีนี้เจ้าพนักงานสรรพากรยังไม่ได้ส่งแบบ ภ.ค.45 ให้โจทก์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) ข้อ 3 และข้อ 4ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า(ฉบับที่ 44) ซึ่งออกตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 86 เบญจการใช้อำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจ เป็นคนละกรณีกับมาตรา 87,87 ทวิ (7) และ 87 ตรี แม้โจทก์จะเคยได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบไต่สวน หรือเจ้าพนักงานประเมินจะเคยกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์มาก่อนแล้วแต่เมื่อการกำหนดรายรับขั้นต่ำครั้งพิพาทนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรา 86 เบญจ จึงเป็นการไม่ชอบ เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าใช้อำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์โดยมิชอบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา คำวินิจฉัยคำคัดค้านของอธิบดีกรมสรรพากรจึงไม่ถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้.