พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีศุลกากรตามราคาขายส่งเงินสด และอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการปรับราคา
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองและ 10 ทวิวรรคแรก ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จ และการคำนวณภาษีต้องถือตามสภาพของราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ส่วนราคาสินค้าที่จะคำนวณภาษีก็ต้องถือตามราคาขายส่งเงินสด โดยไม่รวมค่าอากร ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้า โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อสินค้าเหล่านั้นมาตามราคาที่แจ้งในใบกำกับสินค้าก็ตาม จำเลยทั้งสองก็รับว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อมานั้น ผู้ขายลดราคาเพื่อให้หมดไปจากสต๊อกของผู้ขายซึ่งแสดงว่าราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อมามิใช่ราคาตามปกติ ย่อมจะถือเป็นราคาสินค้าที่นำเข้าเพื่อคำนวณภาษีหาได้ไม่ เพราะมิใช่ราคาขายส่งเงินสดซึ่งจะพึงขายณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคา นอกจากนี้สินค้าบางส่วนมีเครื่องหมายการค้าไม่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองสำแดงไว้ในใบกำกับสินค้า เมื่อราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำไป เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาใหม่ได้ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินราคาใหม่ โดยเปรียบเทียบกับบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยนำเข้าแจ้งราคาไว้ต่อกรมศุลกากรเมื่อปี 2523 แม้จะเป็นราคาก่อนเวลาที่จำเลยทั้งสองนำเข้า แต่เป็นบัญชีราคาสินค้าที่มีผลใช้ได้จนถึงขณะที่จำเลยทั้งสองนำสินค้าเข้าดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นราคา ณ เวลาที่นำของเข้า ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินก็ถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป มิใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะจำเลยทั้งสอง การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1จึงเป็นการปฏิบัติโดยมีหลักเกณฑ์ภายในขอบอำนาจถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระภาษีอากรนำเข้าสำเร็จก่อนสินค้าเสียหาย ไฟไหม้เรือไม่ใช่เหตุคืนภาษี
พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของ เข้าสำเร็จ และมาตรา 41 บัญญัติว่า การนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จ แต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจาก เรือหรือท่าที่มีชื่อส่งของถึงเรือ ล. นำของที่โจทก์สั่งซื้อเข้ามาในเขตท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2531ซึ่งเป็น ท่าเรือที่มีชื่อส่งของถึงและจะถ่ายของจากเรือ ความรับผิดในอัน จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่โจทก์นำเข้าจึงเกิดขึ้นในวันที่17 กรกฎาคม 2531 เมื่อโจทก์ชำระค่าอากรขาเข้าสำหรับของที่ นำเข้าสำเร็จแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยของไป และของนั้นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ล. ก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าอากรขาเข้าที่ได้ชำระ ไปแล้วคืนได้ ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) ข้อ 2กำหนดให้ผู้นำเข้ายื่นแบบแสดงรายการค้าพร้อมกับการยื่นใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีในวันนำเข้าและ ป.รัษฎากรมาตรา 78 เบญจ(1) บัญญัติว่า วันนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าตามมาตรา 78 ตรี และมาตรา 78 จัตวา หมายความว่าวันที่ ชำระอากรขาเข้าพ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า การเสียภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระค่าอากรขาเข้าแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม2531 วันดังกล่าวจึงเป็นวันนำเข้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78 เบญจ(1)โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยในวันดังกล่าว แม้ของ ที่โจทก์นำเข้านั้นจะถูกไฟไหม้เสียหายหมดขณะที่อยู่บนเรือ ซึ่ง โจทก์ยังไม่ได้รับการตรวจปล่อยของดังกล่าวไปก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิ แก่โจทก์ที่จะเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ได้ชำระ ไปแล้วคืน.